พระเมรุมาศ การจัดสร้างพระเมรุมาศ เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รัก และเทิดทูนยิ่งของพสกนิกรปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แบบ มีความสง่างาม สมพระเกียรติ ถือเป็นการแสดงความจงรักภักดี ด้วยความอาลัย ขอน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย พระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกเก้ายอด ผู้ออกแบบพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ได้แก่นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร วางผังอาคารพระเมรุมาศเชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยแกนแนวทิศเหนือและทิศใต้เป็นแนวแกนเดียวกับรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แนวแกนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นแนวแกนเดียวกับพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ผังของพระเมรุมาศเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง60 เมตร ยาว 60 เมตร ความสูง 55.18 เมตร และมีสิ่งปลูกสร้างอาคารประกอบพระเมรุมาศ อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร และอื่นๆ ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเกือบเต็มพื้นที่ 47 ไร่ 63 ตารางวา สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกเก้ายอดบนชั้นฐานชาลาย่อมุมไม้สิบสอง โครงสร้างภายในเป็นเหล็กแบบยึดด้วยนอต ฐานรากโครงสร้างแบบใช้พื้นดินรับน้ำหนักโดยไม่มีเสาเข็ม องค์พระเมรุมาศกรุประดับด้วยไม้อัด ปิดผ้าทองย่นสาบสี ตกแต่งลวดลายและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ มีเทวดานั่งคุกเข่าเชิญฉัตรและบังแทรก/พุ่ม ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่หนึ่ง และสอง มีสระอโนดาตสี่ทิศ โดยมีน้ำไหลจากหน้าสัตว์มงคลประจำทิศสู่สระอโนดาต คือ ช้าง ม้า โค (วัว) สิงห์ ในสระประดับด้วยรูปปั้นสัตว์หิมพานต์ บุษบกประธานผังพื้นอาคารเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ชั้นฐานเป็นฐานสิงห์ เหนือฐานสิงห์เชิงบาตร ชั้นที่หนึ่งเป็นชั้นครุฑยุดนาคเชิงบาตรชั้นที่สองเป็นชั้นเทพนมเครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนเจ็ดชั้น บนยอดสุดปักนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) โถงกลางภายในเป็นที่ประดิษฐานพระจิตกาธานสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศ ติดตั้งฉากบังเพลิงทั้งสี่ทิศเขียนรูปพระนารายณ์อวตารปางต่างๆ เทวดาชุมนุม และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบพระวิสูตร(ผ้าม่าน) มีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้งสี่ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดตั้งลิฟต์ที่ชั้นฐานชาลาแต่ละชั้น ทางด้านทิศเหนือของพระเมรุมาศ มีสะพานเกรินสำหรับใช้เป็นที่เคลื่อนพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนบุษบกประธานพระเมรุมาศ ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัติ ฉัตรแสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ มีท้าวจตุโลกบาลประทับยืนที่มุมฐานชาลาหันหน้าเข้าสู่บุษบกประธาน มีเทวดาคุกเข่าถือบังแทรก ฐานชาลาชั้นที่ 2 เป็นฐานปัทม์เป็นที่ตั้งของบุษบกหอเปลื้องเครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนห้าชั้น จำนวน 4 องค์ตั้งอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่ที่ใช้สำหรับพักพระโกศทองใหญ่ พระโกศจันทน์ พระหีบจันทน์ และที่เก็บเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เช่นฟืน ดอกไม้จันทน์ เป็นต้น ฐานชาลาชั้นที่ 3 เป็นฐานสิงห์ เหนือฐานสิงห์เป็นฐานเชิงบาตร ท้องไม้มีเทพชุมนุมโดยรอบจำนวน 132 องค์ถัดขึ้นไปเป็นบัวเชิงบาตร ฐานชั้นนี้เป็นที่ตั้งของบุษบกซ่างเครื่องยอดบุษบกเชิง กลอนห้าชั้นจำนวน 4 องค์ ตั้งอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่ เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับนั่งอยู่ประจำบุษบกซ่าง โดยจะผลัดกันสวดพระอภิธรรมเวียนกันไป จนกว่าการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วเสร็จ พระเมรุมาศที่จัดสร้างในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ นอกจากเป็นงานศิลปกรรมของชาติที่ได้รวบรวมงานช่างศิลปะทุกประเภทที่แสดงภูมิปัญญาช่างชั้นสูงไว้พร้อมสรรพแล้ว ยังเป็นการเฉลิมพระบารมีที่ยิ่งใหญ่ไพศาลพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ดำรงสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดและสถิตอยู่ในหัวใจของปวงชนชาวไทยนิจนิรันดร์ ภูมิสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม "ภูมิสถาปัตยกรรม" เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยศิลปะในการออกแบบ การวางแผน วางผัง การจัดการพื้นที่ ทั้งพื้นที่ตามธรรมชาติและพื้นที่ในเมือง ทั้งภายนอกและภายในอาคาร เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอย โดยสถาปนิกผู้ออกแบบจะต้องผสานความรู้ทางวัฒนธรรมและทางวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร ตลอดทั้งดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีที่สุด หากเปรียบงานสถาปัตยกรรมทั้งหมดเป็นภาพวาด"ภูมิสถาปัตยกรรม" เปรียบได้กับกรอบรูปที่เสริมให้ภาพวาดนั้นดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แม้จะเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นชั่วคราว แต่ความเชื่อเกี่ยวกับภพภูมิจักรวาลยังคงมีอยู่ตามขนบที่ถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งอดีตเพียงแนวความคิดในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น แตกต่างไปจากประเพณีในการสร้างพระเมรุที่เคยมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมาการสร้างพระเมรุมาศจะสร้างในพื้นที่ด้านทิศใต้ของสนามหลวง ไม่ล้ำเข้าไปในพื้นที่ด้านทิศเหนือที่ถือเป็นส่วนของวังหน้า แต่เมื่อรูปทรงและขนาดของสนามหลวงเปลี่ยนไป แนวแกนในการวางตำแหน่งพระเมรุมาศจึงเปลี่ยนไปเพื่อให้มีความสัมพันธ์กับบริบทของกรุงรัตนโกสินทร์และมีความสง่างาม ภูมิสถาปนิกได้วางผังกำหนดให้แกนเหนือ-ใต้ ให้ตำแหน่งยอดพระปราสาท มณฑปประธานของพระเมรุมาศ อยู่ตรงกับตำแหน่งพระศรีรัตนเจดีย์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนแกนตะวันออก-ตะวันตก ตัดกับยอดหลังคาเขตพุทธาวาสประดิษฐานพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ทำให้พระเมรุมาศองค์นี้เกิดความสง่างามสัมพันธ์กับปูชนียสถานที่สำคัญของพื้นที่ กลุ่มอาคารพระเมรุมาศ ออกแบบพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดความกว้าง 60 เมตร จึงถูกจัดวางอยู่ทางทิศใต้ ค่อนไปทางทิศตะวันออกของสนามหลวงถัดจากขั้นบันไดขั้นสุดท้ายมีลานกว้าง 20 เมตร ทั้งสี่ทิศสำหรับประกอบพระราชพิธี ทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งทรงธรรม และมีศาลาลูกขุน ทับเกษตรและอาคารประกอบอยู่โดยรอบ การออกแบบดังกล่าว ใช้คติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลตามโบราณราชประเพณี และสร้างความเป็นเอกภาพของงานศิลปะประกอบทั้งงานสถาปัตยกรรมประติมากรรม วิจิตรศิลป์ และภูมิสถาปัตยกรรม ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมงานพระเมรุมาศครั้งนี้ เน้นไปที่เรื่องของ "น้ำ" โดยได้แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนพระเมรุมาศต้องการจะออกแบบให้เป็นภาพของสวรรค์ จึงใช้น้ำต่างสระอโนดาตและมหานทีสีทันดร ส่วนพื้นที่ด้านนอกรั้วราชวัติมีการใช้น้ำเป็นองค์ประกอบที่สื่อถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 การออกแบบโดยใช้องค์ประกอบของน้ำเป็นประเด็นนำเสนอสำคัญ ถือเป็นความท้าทายด้วยเป็นเรื่องใหม่ในสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ เพราะน้ำที่ล้อมรอบอาคารนอกจากที่จะสื่อถึงสระอโนดาต มหานทีสีทันดรแล้ว ยังต้องทำให้องค์ประกอบของน้ำหมายถึงโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับ ป่า ดิน น้ำและการเกษตรด้วย อาทิ โครงการฝายน้ำล้น โครงการกังหันชัยพัฒนา โครงการหญ้าแฝกรวมทั้งโครงการแก้มลิง นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบที่สื่อถึงพระองค์ อาทิคันนารูปเลขเก้าไทย (๙) ดินผสมสีทองอยู่ บริเวณนาข้าวต้นมะม่วงมหาชนก ต้นยางนา ต้นราชพฤกษ์ อีกทั้งลวดลายกระต่ายในองค์ประกอบภูมิทัศน์ต่างๆ เพื่อสื่อถึงปีนักษัตรพระราชสมภพที่จะต้องจัดวางให้กลมกลืนกัน เทคนิครายละเอียดที่เสริมให้พระเมรุมาศมีความพิเศษยิ่งขึ้น คือการเลือกใช้แผ่นซีเมนต์สีเทามีผิวสัมผัสสะท้อนระยิบระยับเป็นวัสดุปูพื้นลานรอบพระเมรุมาศแล้ว ใช้ไฟส่องสว่างที่ให้แสงนวลสลัวไปยังประติมากรรมรอบมณฑลพระเมรุมาศ ทั้งเขาสัตบริภัณฑ์ รูปปั้นสัตว์หิมพานต์นานาพันธุ์ สระอโนดาต เขามอ ไม้ประดับ และยอดปราสาท ทั้งมีการใช้เครื่องพ่นละอองน้ำช่วยลดความร้อนช่วงกลางวัน และเสริมบรรยากาศยามค่ำคืน ให้ดูราวกับพระเมรุมาศลอยอยู่เหนือมวลเมฆ ส่วนองค์ประกอบสี มี 3 สีหลัก คือ สีขาว สีทอง และสีเทา ไม่เน้นลวดลายเพื่อให้คุณค่ากับพระเมรุมาศซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมหลัก พระหีบจันทน์ พระบรมโกศ "พระโกศจันทน์" การจัดสร้างพระโกศจันทน์ เป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณ โดยสร้างขึ้นในแต่ละครั้งที่มีพระราชพิธีพระบรมศพพระศพ เมื่อจัดสร้างขึ้นเสร็จเรียบร้อยดีแล้วถูกนำขึ้นตั้งบนจิตกาธานพระเมรุมาศ ในการจัดสร้างพระโกศจันทน์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ครั้งนี้ กลุ่มศิลปกรรมสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นผู้รับผิดชอบจัดสร้างพระโกศจันทน์ และฐานรองพระโกศจันทน์(พระหีบจันทน์)โดยผู้ออกแบบพระโกศจันทน์ ที่จะใช้ในงานพระราชพิธีครั้งนี้คือ สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผาสำนักช่างสิบหมู่ได้ทำการเขียนแบบลวดลายที่ใช้ประกอบองค์พระโกศจันทน์ ที่มีความสำคัญแสดงถึงฐานานุศักดิ์พระมหากษัตริย์อย่างสมพระเกียรติ จำนวนมากกว่า 30 ลาย พระโกศจันทน์ ฝาพระโกศจันทน์ โดยแนวคิดในการออกแบบนั้น ได้พัฒนาแบบมาจากพระโกศจันทน์ รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่8 โดยแบบลายพระโกศจันทน์ รัชกาลที่ 9 ใส่ลายบัวกลีบขนุนเทพนม ส่วนพระหีบจันทน์เพิ่มลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งตรงกลางเป็นครุฑ เมื่อทั้งสองส่วนพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์มาประกอบเข้ากันจะเป็นลายเทพยดาทรงครุฑ เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะมีความวิจิตรงดงามและสมพระเกียรติอย่างที่สุด ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เมื่อถึงกำหนดออกพระเมรุมาศ จะมีการอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ หรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะอัญเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ เรียกว่า"ริ้วขบวน" โดยแต่ละริ้วขบวนมีคนหาม คนฉุดชักจำนวนมาก พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระอิสริยยศ การจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศ จำนวน 6 ริ้วขบวน โดยมีการบูรณะตกแต่งราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งซักซ้อมการเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์ ตามโบราณราชประเพณี มีการอัญเชิญพระบรมศพออกไปถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ซึ่งมีการแห่ไปทั้งทางบก และทางน้ำ โดยเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลงมาที่พระยานมาศสามลำคาน แล้วแห่ออกท่าราชวรดิฐไปลงเรือ พายตามน้ำไปขึ้นที่ท่าเตียน จากนั้นเชิญขึ้นพระยานมาศสามลำคานจากเรือไปจนถึงหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงเชิญขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ จัดเป็นริ้วขบวนแห่เข้าพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวงเพื่อเป็นเกียรติยศ สำหรับการแห่ทางน้ำหรือชลมารค ในรัชกาลปัจจุบันได้ลดทอนเหลือแต่กระบวนแห่ทางบก สำหรับขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ประกอบด้วย 6 ริ้วขบวน ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผ่านทางประตูเทวาภิรมย์ จากนั้นใช้เส้นทางถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชยเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวมระยะทาง 817 เมตร ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ โดยเกรินบันไดนาค จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปทางถนนสนามไชยยาตราขบวนแห่เชิญพระโกศทองใหญ่ จากถนนสนามไชยเข้าสู่ถนนราชดำเนินใน จากนั้น ขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่เชิญพระโกศทองใหญ่เข้าสู่ท้องสนามหลวง รวมระยะทาง 890 เมตร ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนราชรถปืนใหญ่ ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศเข้าสู่ราชวัติ เวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) 3 รอบ เวียนพระเมรุมาศครบ 3 รอบแล้ว เทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศ เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานณพระจิตกาธาน รวมระยะทาง 260 เมตรต่อรอบ ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน และเชิญพระบรมราชสรีรางคารขึ้นประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยจากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง เคลื่อนขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคาร ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระบรมราชสรีรางคารโดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย แยกเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพักไว้ที่พระศรีรัตนเจดีย์ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน เข้าประตูพิมานไชยศรี เชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งราเชนทรยานเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐานที่บุษบกแว่นฟ้าทอง รวมระยะทาง 1,074 เมตร ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รวมระยะทาง 63 เมตร ริ้วขบวนที่ 6 ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปบรรจุ ณ วัดบวรนิเวศวิหารในการอัญเชิญพระบรมศพจะมีเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ปรากฏในริ้วขบวน ที่สำคัญ คือ "ราชรถ ราชยาน" เพื่อแสดงให้เห็นถึงฐานานุศักดิ์ของผู้ใช้คือพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ พระมหาพิชัยราชรถ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ในปีพุทธศักราช 2338 เพื่อใช้ทรงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน แล้วอัญเชิญออกถวายพระเพลิงนำออกใช้งานครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช 2339 อัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และนำมาใช้ครั้งล่าสุดในการอัญเชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี อายุของพระมหาพิชัยราชรถ ราว 222 ปี พระมหาพิชัยราชรถ สร้างด้วยไม้แกะสลัก ปิดทอง ประดับกระจก มีความกว้าง4.90 เมตร ยาว 17.50 เมตร สูง 11.70 เมตร น้ำหนัก 12.25 ตัน จำนวนพลฉุดชัก206 นาย (ด้านหน้า 160 นาย ด้านหลัง46 นาย) และผู้ควบคุม 5 นาย ลักษณะของพระมหาพิชัยราชรถ ประกอบด้วยชั้นเกรินลดหลั่นกัน 5 ชั้น พนมของเกรินแต่ละชั้นด้านหน้าแกะสลักเป็นรูปเศียรนาคด้านบนประดิษฐานบุษบกสำหรับประดิษฐานพระบรมศพ เป็นบุษบกทรงมณฑปประกอบเครื่องยอด 5 ชั้น ปิดทองประดับกระจก พระยานมาศสามลำคาน พระยานมาศสามลำคาน เป็นยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน ใช้สำหรับอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายก บริเวณทิศตะวันออกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระราชยานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นครั้งแรก ราชรถปืนใหญ่ ราชรถปืนใหญ่ เป็นราชรถที่เชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนมชีพ แทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิม จากพระบรมมหาราชวังหรือวังของพระบรมวงศ์พระองค์นั้นๆ สู่พระเมรุมาศ และแห่อุตราวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ราชรถปืนใหญ่ ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีความยาว 7 เมตร สูง 1.85 เมตร ใช้จำนวนพล 80 นาย พลฉุดชัก 30 นาย พลบังคับเลี้ยว 2 นาย พลประคองกลาง 6 นายและพลประคองท้าย 2 นาย พระที่นั่งราเชนทรยาน พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(รัชกาลที่ 1) ลักษณะเป็นทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น สร้างด้วยไม้ แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพนมไว้ตรงกลาง และมีรูปครุฑยุดนาคประดับที่ฐาน มีคานสำหรับหาม 4 คาน ใช้คนหาม 56 คน แต่เวลาปกติจะคงคานประจำไว้ 2 คาน ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนิน โดยขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า "ขบวนสี่สาย" เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียรไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ ยังใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี และพระอัฐิพระบรมวงศ์ จากพระเมรุมาศ พระเมรุ ท้องสนามหลวง ไปยังพระบรมมหาราชวัง เครื่องแต่งกายในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เครื่องแต่งกายสารวัตรกลอง สารวัตรมโหระทึก สารวัตรแตร พนักงานกำกับฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด(หน้าพระนำ) ผู้ควบคุมคนหามเสลี่ยงกลีบบัวพระนำ พนักงานกำกับเสลี่ยงกลีบบัวพระนำ พนักงานคุมฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด(หลังพระนำ) พนักงานคุมฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง (หน้า) สวมหมวกทรงประพาสกำมะหยี่สีดำ ยอดเกี้ยว เสื้อนอกขาวแบบราชการติดแขนทุกข์ รัดประคดแดงดอกขาว ผ้าเกี้ยวลาย ถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายพนักงานถือบังพระสูรย์ พนักงานถือพระกลด พนักงานถือพัดโบก พนักงานภูษาประคองพระบรมโกศ พนักงานถือพระกลดถวายพระบรมโกศ พนักงานถือบังพระสูรย์หักทองขวาง สารถีถือแพนหางนกยูงนั่งหน้าราชรถพระนำ สารถีถือแพนหางนกยูงนั่งหน้าพระมหาพิชัยราชรถ สวมหมวกลอมพอกขาวมีดอกไม้ไหว เสื้อนอกขาวแบบราชการ เสื้อครุยเทวดาแถบใหญ่มีดอกผ้าเกี้ยวลาย ถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายมหาดเล็กหลวงเชิญคู่แห่ มหาดเล็กหลวงเชิญพระแสงระหว่างเครื่อง (หน้าพระนำ) มหาดเล็กหลวงเชิญพระแสงระหว่างเครื่อง (หลังพระนำ) มหาดเล็กหลวงเชิญพระแสงระหว่างเครื่อง (หน้าพระบรมศพ) มหาดเล็กหลวงเชิญพระแสงระหว่างเครื่อง (หลังพระบรมศพ) มหาดเล็กหลวงเชิญพระแสงรายตีตอง สวมหมวกทรงประพาสกำมะหยี่สีน้ำเงิน ยอดเกี้ยว เสื้อนอกขาวแบบราชการติดแขนทุกข์ รัดประคดน้ำเงินดอกขาว ผ้าม่วงเชิง ถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าโบ เครื่องแต่งกายพนักงานจูงม้าพระที่นั่ง พนักงานหามเสลี่ยงกลีบบัวพระนำ พนักงานหามพระราชยานมาศสามลำคาน พนักงานหามพระที่นั่งราเชนทรยาน พนักงานหามราเชนทรยานน้อย พนักงานหามมโหระทึก ผู้บังคับราชรถพระนำ ผู้บังคับพระมหาพิชัยราชรถ ผู้บังคับราชรถปืนใหญ่ สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดจุก เสื้อเข้มขาบไหม รัดประคดโหมดเทศ กางเกงมัสรูไหม ถุงเท้าสีดำ และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายตำรวจหลวงคู่แห่ สวมหมวกทรงประพาสกำมะหยี่สีดำ ยอดเกี้ยว เสื้อสักหลาดสีเทา สายกระบี่แถบทองใหญ่ เข็มขัดพู่ไหมแดง ผ้าม่วงเชิง ถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าโบ เครื่องแต่งกายพรหม เชิญพุ่มทอง สวมหมวกทรงประพาสกำมะหยี่สีแดง ทรงเทริด เสื้อกำมะหยี่สีแดงคอบัวติดขลิบ รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลาย กางเกงสนับเพลา ถุงเท้ายาวสีขาว และร้องเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายอินทร์ เชิญพุ่มเงิน สวมหมวกทรงประพาสกำมะหยี่สีเขียว ทรงเทริด เสื้อกำมะหยี่สีเขียวคอบัวติดขลิบ รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลาย กางเกงสนับเพลา ถุงเท้ายาวสีขาว และร้องเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายผู้บอกกระบวน สวมหมวกทรงประพาสเยียรบับ ยอดเกี้ยวเสื้อเยียรบับ รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลายถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายพรหม เชิญจามร สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศ ยอดเกี้ยว เสื้ออัตลัดสีแดง รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลาย กางเกงสนับเพลา ถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายอินทร์ เชิญจามร สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศ ยอดเกี้ยว เสื้ออัตลัดสีเขียว รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลาย กางเกงสนับเพลา ถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายเครื่องสูง ฉัตรทองแผ่ลวด ฉัตรหักทองขวางสวมหมวกลอมพอกหางเหยี่ยวแดง เสื้อเข้มขาบไหม รัดประคดโหมดเทศ กางเกงมัสรูไหม ถุงเท้าสีดำ และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายกลองชนะแดงลายทอง กลองชนะเงิน กลองชนะทอง ฉุดชักราชรถพระนำ ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถพนักงานลากเกรินหางนาค สวมหมวกกลีบลำดวนแดง ขลิบเหลือง เสื้อปัสตูแดงขลิบเหลือง กางเกงปัสตูแดงขลิบเหลืองถุงเท้าสีดำ และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายแตรฝรั่ง แตรงอน สังข์ สวมหมวกปัสตูแดงพู่ขาว เสื้อปัสตูแดงแขนบาน กางเกงปัสตูแดงขลิบเหลืองถุงเท้าสีดำ และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายมโหระทึก จ่าปี่ จ่ากลอง สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศ ยอดเกี้ยว เสื้อเข้มขาบไหม เข็มขัดแถบทองหัวครุฑ กางเกงมัสรูไหม ถุงเท้าสีดำ และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายธงสามชาย สวมหมวกหูกระต่ายแดง ขลิบลูกไม้ใบข้าว เสื้ออัตลัดสีแดง รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลายถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ เครื่องแต่งกายนำริ้ว สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศ ยอดเกี้ยว เสื้อโหมดเทศสีบานเย็น รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลาย ถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ Download:: สยามรัฐรายวันฉบับพิเศษ ตอนที่ ๗ พระเมรุมาศ ผลึกภูมิปัญญามรดกศิลปะไทย