แฉมหันตภัยไซเบอร์ 10 ชนิด คุกคามไทยหนักขึ้น "บุญสร้าง" เดินหน้ายกเครื่องปฏิรูปตำรวจให้ทันยุคไซเบอร์ครองโลก เร่งสร้างเกาะป้องกันหลังเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีอัตราเพิ่มขึ้นน่าเป็นห่วง เตรียมนำคณะกก.ชุดใหญ่ลงพื้นโรงพักต้นแบบต่อยอดสร้างความมั่นคงประเทศ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงว่า พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการประสานงานเพื่อลงพื้นที่เร็วๆนี้ เพื่อดูงานโรงพักต้นแบบ "สถานีตำรวจล้ำสมัย" 3 แห่ง คือ ในเขตนครบาลที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ในเขตภูมิภาคที่สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว จ.สมุทรปราการ และในเขตปกครองพิเศษ ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนปฏิรูปตำรวจ ทั้งนี้การลงพื้นที่โรงพักตัวอย่างดังกล่าว เนื่องมาจากการที่คณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯที่มี ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ เป็นประธานอนุกรรมกรรมการฯ และคณะได้นำเสนอข้อมูลของที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจถึงแนวโน้มอาชญากรรมในอนาคตว่า อาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย มีความเสี่ยงถึง 41 % สำหรับแนวทางการรับมือกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้น คณะทำงานชี้แจงว่าจำเป็นจะต้องปฏิรูปการให้บริการประชาชนผ่านระบบอีเล็คทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องให้ความรู้ให้ทักษะและติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน ทั้งยังจะต้องเพิ่มสมรรถนะให้แก่ตำรวจพื้นที่ สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะให้แก่ตำรวจส่วนกลาง พร้อมทั้งการสร้างระบบการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจส่วนกลาง ตำรวจพื้นที่ และชุมชน ซึ่งจำเป็นจะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และเมื่อได้ลงพื้นที่ไปดูโรงพักตัวอย่างแล้วจะได้กำหนดแผนปฏิรูปตำรวจผสมกับยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้วยังจะต้องขจัดข้อจำกัดต่างๆซึ่งมีอยู่มากมายให้หมดไป ด้าน พ.ต.อ.ดร.สัญญา เนียมประดิษฐ์ จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ระบุว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์นั้นมีทั้งภัยคุกคามในเรื่องความมั่นคงปลัดภัยทางไซเบอร์ (cyber threats) และภัยคุกคามในเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์ (cyber crime) สำหรับอาชญากรรมทางไซเบอร์ในประเทศไทยที่ บก.ปอท. พบบ่อยได้แก่ 1.การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2.การหมิ่นประมาทผู้อื่น 3.การเจาะระบบ 4.การนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลปลอมหรือเป็นเท็จ 5.การเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบข้อมูลและข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ 6.การรีดเอาทรัพย์โดยขู่ว่าจะล่มระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีผู้ยินยอมจ่ายเงินไปแล้ว 7.การใช้หรือมีไว้ซี่งบัตรอีเล็คทรอนิกส์ของผู้อื่น 8.การหลอกลวงทางอีเมล 9.การหลอกลวงผู้หญิงในการหาคู่ ซึ่งผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงหาคู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆและ 10.การฉ้อโกงในลักษณ์อื่นๆ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม กล่าวว่าคณะทำงานของอนุกรรมการด้านวิชาการได้ชี้ให้ประชุมกรรมการปฏิรูปตำรวจเห็นว่า การที่แนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในประเทศไทยมีจำนวนคดีมากขึ้น เพราะเหตุปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ 1.ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น และ 2.สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยตอการเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น นโยบายประเทศไทยแลนด์ 4.0 โครงการพัฒนาภาคตะวันออก (EEC) การทำให้เมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น เป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) และจะขยายเป็น77 จังหวัดภายใน 5 ปี รวมทั้งนโยบายชุมชนดิจิทัล ,โครงการเน็ตประชารัฐ จำนวน 24,700 หมู่บ้าน , อี-คอมเมอร์ซ์ , อี-เฮลท์ และ อี-โลคัลกัฟเวอร์นแมนท์ เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมตำรวจไว้รับมือกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในการนี้คณะอนุกรรมการด้านวิชาการได้ทำการศึกษามาตรการและวิธีการรับมือของตำรวจสิงค์โปรและตำรวจอังกฤษด้วย