“ครูหยุย” แนะ รับบาลคลายกฎเหล็กให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมือง หลังนายกฯประกาศโรดแมบเลือกตั้งพ.ย.61 ดีเดย์ต้นปี 61เวลาเหมาะสม ระบุรธน.ใหม่ขั้นตอนเยอะ ปัดสนช.ยื้อเลื่อนเลือกตั้ง ชี้ภาคปชช.อึดอัด เตือนรบ.รับฟังความเห็นก่อนออกกม. หวั่นก่อม็อบทำรบ.ลำบาก นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ว่า คิดว่าพรรคการเมืองรอดูท่าทีว่ารัฐบาลจะประกาศคลายกฎเหล็กให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้เมื่อไหร่ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ประกาศโรดแมปว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณเดือนพ.ย.61 ดังนั้นรัฐบาลควรจะพิจารณาปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างน้อยต้นปี 61 เพราะขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญใหม่เกี่ยวกับพรรคการเมือค่อนข้างเยอะมาก อาทิ สมาชิกพรรค เก็บค่าสมาชิก กรรมการบริหารพรรค เตรียมหาผู้สมัคร ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร ส่วนการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งฉบับสุดท้ายมายังสนช.ในวันอังคารที่ 28 พ.ย.2560 ซึ่งการพิจารณาของสนช.เป็นไปตามกรอบเวลากำหนดไว้ชัดเจนจะทำนอกเหนือจากนั้นไม่ได้อยู่แล้ว “ตามขั้นตอนเมื่อส่งมายังสนช.แล้วก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา ถ้ากรธ.และเจ้าของร่างกฎหมายลูกเห็นด้วยก็จบ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณา ตรงนี้อาจจะช้าไปนิดหน่อยเท่านั้น เว้นแต่ว่ากรธ.และสนช.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเท่านั้นอาจจะทำให้ช้าออกไป ดังนั้นนักการเมืองอย่ากังวลว่าสนช.จะดึงหรือยื้อการพิจารณากฎหมายลูกไม่ให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ยืนยันว่าไม่มีสนช.คนไหนที่คิดจะคว่ำกฎหมายลูกอย่างแน่นอน” นายวัลลภ กล่าว นายวัลลภ กล่าวว่า นอกจากนี้ภาคประชาสังคมกำลังจับตามองดูการพิจารณากฎหมายของสนช.หลายฉบับที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ที่ดิน และการควบรวมกิจการของรัฐวิสาหกิจ ล้วนเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนรู้สึกอึดอัดเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสอ ที่มีการรับฟังความเห็นของประชาชนน้อยมาก ถ้ายังเป็นอย่างนี้หากภาคประชาชนถึงจุดหนึ่งรับไม่ได้ ก็อาจจะรวมตัวกันออกมากดดันหรือตั้งม็อบก็จะทำให้การบริหารงานของรัฐบาลลำบากมากขึ้นก็ได้