วันที่ 30 ต.ค.60 นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานฯ ซึ่งล่าสุดคณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ ที่มี ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ เป็นประธาน ได้เตรียมเสนอผลการศึกษาบทบาทและหน้าที่ของตำรวจต่างประเทศและในประเทศ เรื่องการบริหารบุคคล, การสอบสวน, การบังคับใช้กฎหมาย, โครงสร้างอำนาจหน้าที่ และภารกิจของตำรวจ ฯลฯ โดยได้ศึกษาจากผลงานของคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจที่ได้ทำการศึกษาไว้แล้ว 19 คณะ นอกจากนี้ ยังศึกษาจากเอกสารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามหลักสูตรภายในและภายนอกที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ตลอดถึงวิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 4,658 ชิ้น สำหรับบทเรียนจากต่างประเทศนั้น คณะอนุกรรมการด้านวิชาการได้ศึกษาบทเรียนการปรับตัวของตำรวจต่างประเทศ ที่ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เช่น นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และ เยอรมนี เป็นต้น สำหรับกรณีสิงคโปร์ มีบทเรียน 4 ประเด็น คือ 1. การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสังคมไม่ยอมรับพฤติกรรมการทุจริต 2. การจัดโครงสร้างกระจายอำนาจ เจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปในพื้นที่ให้ใกล้ชิดกับประชาชน โดยชุมชนจะต้องเป็นหุ้นส่วนกับตำรวจในการป้องกันอาชญากรรม ผู้นำชุมชนจะร่วมกับตำรวจเพื่อระบุปัญหาและวิธีแก้ไข และ 3. การจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจอย่างเพียงพอ สำหรับกรณีของเยอรมนี คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ รายงานว่า ได้มีการปรับตัว 5 ประการด้วยกัน คือ 1. ปฏิรูปตำรวจด้วยการฝึกให้นำความรู้ทางทฤษฎีไปปฏิบัติด้วยตนเอง ฝึกให้นักเรียนตำรวจรู้จักการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ หลักการด้านสิทธิมนุษยชน กับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ 3. ให้อำนาจตำรวจระดับปฏิบัติการเพิ่มขึ้น เพิ่มระยะเวลาการศึกษาอบรมจากเดิม 1 ปีเป็น 2 ปีครึ่ง 4. รัฐลงทุนให้ตำรวจในด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการให้ตำรวจสามารถเลี้ยงชีพ และอยู่ในสังคมได้อย่างดี และสังคมไม่ยอมรับการทุจริต และ 5. จัดสรรงบประมาณในการปฏิบัติงานให้อย่างเพียงพอ ส่วนบทเรียนจากตำรวจญี่ปุ่นนั้น พบว่ามีการกระจายกำลังตำรวจไปให้บริการในพื้นที่ ผ่านระบบโคบัง (ตู้ยาม) และชูไซโช่ (ป้อมยามที่พักตำรวจ) ให้ตำรวจมีบทบาทครอบคลุมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การช่วยเหลือประชาชน และเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากประชาชนโดยมีสายตรวจรถยนต์ด้วย ทั้งนี้ ตำรวจในญี่ปุ่น เป็นตำรวจแบบผสมระหว่างแบบศูนย์รวมอำนาจ กับแบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยมีทั้งตำรวจจังหวัด ตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ ขณะที่ การศึกษาบทเรียนจากตำรวจต่างประเทศนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ที่อังกฤษ และเวลส์นั้น ได้มีคณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวทุกข์ ตั้งขึ้นตามกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2547 ประกอบด้วยบุคคล 13 คน ที่ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับตำรวจ ประกอบกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหาดไทย กรรมการอิสระคณะนี้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา รับฟังข้อร้องเรียนจากประชาชนระดับรากหญ้าพิจารณาเรื่องการสอบสวน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน สำหรับที่ สหรัฐฯ โดยเฉพาะรัฐนิวยอร์ก มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนเป็นองค์กรอิสระ มิได้เป็นหน่วยงานของนายกเทศมนตรี มีอำนาจสอบสวน ไต่สวน ศึกษา ค้นคว้า และเสนอแนะ เพื่อรับฟังคำร้องทุกข์ที่มีต่อตำรวจนิวยอร์ก ซึ่งถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่สุภาพเรียบร้อย หรือใช้ภาษาที่หยาบคาย โครงสร้างของคณะกรรมการ ประกอบด้วย 13 คน แต่งตั้งโดยผู้บัญชาการตำรวจนิวยอร์ก 3 คน แต่งตั้งจากสภาเทศบาลเขตต่างๆ เขตละ 3 คน รวม 5 คน และนายกเทศมนตรีแต่งตั้ง 5 คน จากผู้ที่เคยเป็นตำรวจมาก่อน ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยกเว้น 3 คน ที่เสนอโดยผู้บัญชาการตำรวจนิวยอร์ก มีวาระคราวละ 3 ปี ไม่มีเงินเดือน มีแต่เบี้ยประชุม ส่วนการควบคุมตรวจสอบตำรวจฝรั่งเศสนั้น จาการศึกษาพบว่าได้มีการกลไกการตรวจสอบหลายฝ่ายด้วยกัน คือ ตำรวจต้องรับผิดชอบต่อกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย รัฐสภา นายกรัฐมนตรี รัฐสภา ศาลยุติธรรม คณะกรรมการตรวจสอบภายใน ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคม กล่าวว่า คณะอนุกรรมการด้านวิชาการได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) หลายประการ และได้เสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ไปแล้ว เป็นต้นว่า 1. การกระจายอำนาจบริหาร 2. การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ 3. การสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ 4. การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานของตำรวจโดยตรง 5. การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน 6. พัฒนาการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ 7. การปรับปรุงเงินเดือนค่าตอบแทน 8. พัฒนาระบบสรรหา การผลิต บุคคลากรตำรวจ 9. ส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน และ 10. จัดตั้งหน่วยงานในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการยุติธรรม