แม้ “กลุ่มรัฐอิสลาม” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ไอซิส” บ้าง หรือ “ไอเอส” บ้าง ได้ถูกเผด็จ คือ กำจัดปราบปราม จนต้องแพ้พ่าย ไปหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็น “โมซุล” ที่เปรียเสมือนเป็นเมืองศูนย์กลางของพวกเขาในอิรัก รวมไปถึง “รักกา” ซึ่งเปรียบประดุจดัง “นครหลวง” หรือ “เมืองเอก” ของทางกลุ่ม ในประเทศซีเรีย ทว่า บรรดานักวิเคราะห์ ผู้สันทัดกรณี ก็ชี้เตือนว่า อย่างเพิ่งตีปีกดีใจกันเกินไปนัก รวมถึงอย่างเพิ่งสรุปว่า “ไอเอส” ขบวนการก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงที่ทรงอิทธิพลครอบครองในพื้นที่ภาคตะวันออกของซีเรีย คาบเกี่ยวกับทางตอนเหนือของอิรัก ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกเผด็จศึกอย่างสิ้นซากไปแล้ว เป็นเสียงเพรียกเตือน ท่วงทำนองเดียวกับ “สงครามยังไม่จบ อย่างเพิ่งนับศพทหาร” ทำนองนั้น แม้ว่า ทางกลุ่มไอเอส สูญเสียพื้นที่ที่สามารถกล่าวได้ว่า มีความสำคัญระดับ “ศูนย์บัญชาการ” ในปฏิบัติการก่อการร้ายสะเทือนขวัญเขย่าโลกในห้วงแห่ง 3 ปีที่ผ่านมา ที่กลุ่มไอเอสเรืองอำนาจ กระทั่ง มหาอำนาจหลายฟากฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น “สหรัฐอเมริกา” เจ้าเก่า หรือ “รัสเซีย” มหาอำนาจคู่แข่ง ตลอดจน “จีนแผ่นดินใหญ่” ระดมความสนับสนุนเป็นประการต่างๆ ในอันที่จะทำลายล้างก่อการร้ายขบวนการนี้ โดยมหาอำนาจแต่ละฝ่าย แบ่งข้างสนับสนุนกันแต่ละขั้ว สหรัฐฯ สนับสนุนต่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย และชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ร่วมกันไล่ล้างทั้งไอเอสและรัฐบาลซีเรียไปในเวลาเดียวกัน สวนทางกับ รัสเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ส่งเสริมรัฐบาลดามัสกัสของประธานาธิบดีบาร์ชา อัล อัสซาด ให้ทรงอำนาจ ด้วยการถล่มปราบทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หรือพวกกบฏ พร้อมๆ กับกลุ่มไอเอสไปในตัวเสร็จสรรพ แยกกันเดิน แต่รวมกันตี ในลักษณะเยี่ยงนี้ มีหรือ “ไอซิส” จะทานพิษถล่มโจมตีร่วมกันอยู่ได้ จึงต้องแตกพ่ายแพ้ไป พร้อมกับทิ้งเมืองฐานที่มั่น ไม่เว้นแม้กระทั่ง “รักกา” พื้นที่ที่เปรียบได้กับนครหลวง เมืองเอก ของพวกเขา อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิเคราะห์ก็แสดงทรรศนะว่า โลกอย่าเพิ่งย่ามใจในชัยชนะที่มีเหนือต่อขบวนการก่อการร้ายสะท้านขวัญอันดับหนึ่งกันข้างต้น เพราะแม้นว่า ฐานที่มั่นระดับศูนย์บัญชาการจะพินาศไป แต่สมาชิกเหล่าวายร้ายระดับ คือ “นักรบจีฮัด” โดยเฉพาะ “นักรบจีฮัดต่างชาติ” ของทางกลุ่ม ซึ่งมีศักยภาพการต่อสู้ระดับหน่วยคอมมานโด หรือรบพิเศษ นั้น ยังมีอยู่อีกนับร้อย นับพันชีวิต ที่พร้อมเป็นเครื่องจักรสังหารใครต่อใครได้ทุกเมื่อ โดย “ศูนย์ซูฟาน” อันเป็นสถาบันศึกษาวิจัยและให้คำปรึกษาด้านความมั่นคงในสหรัฐฯ นักรบจีฮัดต่างชาติพวกนี้ จำนวนตามการประเมินที่ยังเหลือชีวิตอยู่ราว 5,600 คน จากเดิมที่เคยมีอยู่ถึงกว่า 30,000 คน กำลังพยายามกระจัดกระจายหาทางกลับประเทศของตน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนถึง 33 ประเทศ ด้วยกัน ซึ่งหากพวกนี้กลับสู่ประเทศของตนได้อย่างสะดวกโยธินได้เมื่อไหร่ ก็จะเป็นบุคคลอันตราย บ่อนทำลายความมั่นคงแก่ประเทศของตน ซึ่งแม้ว่าในระยะเบื้องต้น อาจจะยังไม่แผลงฤทธิ์ ด้วยเหตุผลว่ายังรวมพลไม่ติด แต่ถ้าระดมคนรวมตัวได้เมื่อไหร่ ก็สุ่มเสี่ยงก่อภัยความมั่นคงกันได้เมื่อนั้น ขณะที่ ดร.ลอเรนโซ วิดิโน แห่งสถาบันเพื่อการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศแห่งอิตาลี หรือไอเอสพีไอ แสดงทรรศนะว่า สมาชิกนักรบจีฮัดของกลุ่มไอเอสอีกส่วนหนึ่ง อาจจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในซีเรียและอิรัก โดยอาจไปเข้ากับกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ แล้วปฏิบัติการโจมตีในลักษณะสงครามกองโจรในซีเรียและอิรักต่อไป ดร.วิดิโน ยังแสดงทรรศนะด้วยว่า มีความเป็นไปได้ว่า นักรบจีฮัดของไอเอสอีกหลายส่วน อาจใช้วิธีไปสมทบกับเครือข่ายของไอเอสในประเทศที่อยู่รายรอบอิรักและซีเรีย เช่น ที่เยเมน แหลมไซนาย เทือกเขาคอเคซัส ชายแดนตุรกี ย่านเอเชียกลาง ในอัฟกานิสถาน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเมียนมา และฟิลิปปินส์ รวมถึงที่ประเทศลิเบีย ซึ่งที่ประเทศแห่งนี้ โดยเฉพาะที่เมืองเซิร์ท ต้องถือเป็นฐานบัญชาการใหญ่รองจากเมืองรักกา และโมซุล โดยในเวลานี้มีนักรบจีฮัดของไอเอสเคลื่อนไหวอยู่ราวๆ 6,500 คน ด้วยกัน นักวิชาการแห่งไอเอสพีไอ ยังแสดงทรรศนะวิตกกังวลต่อปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในบางประเทศของทวีปยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร ด้วยว่า ไม่ได้เอื้อต่อการจัดการแก่เหล่านักรบจีฮัดไอเอสที่เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตน อาทิ กฎหมายของอังกฤษ ไม่สามารถจัดการกับนักรบจีฮัดของไอเอส เพราะนักรบจีฮัดที่ว่า ก่อเหตุนอกราชอาณาจักร ทำให้ไม่สามารถลงโทษใดๆ กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ ก็ยังมีบางประเทศในยุโรป ที่เพิ่งออกกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งก็ไม่มีผลย้อนหลังต่อการบังคับใช้กับนักรบจีฮัดของไอเอส ที่เพิ่งเดินทางกลับสู่ประเทศของตนเช่นกัน ไม่นับเรื่องการรวบรวมหลักฐานต่างๆ ในการที่จะนำตัวพวกนักรบจีฮัดของไอเอสขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาล ทั้งนี้ ปัญหาในตัวบทกฎหมายข้างต้น ก็สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดี จากกรณีที่อังกฤษ สามารถจับกุมและลงโทษตามกฎหมายแก่นักรบจีฮัดของไอเอสที่เพิ่งเดินทางกลับประเทศได้เพียง 54 ราย เท่านั้น จากจำนวนตัวเลขของนักรบจีฮัดไอเอสที่เดินทางกลับอังกฤษทั้งหมด 400 ราย อย่างไรก็ดี นักวิชาการจากไอเอสพีไอ ก็ได้แนะนำให้ขยายผล “มาตรการบำบัดพวกที่มีความคิดแบบสุดโต่ง” ที่หลายประเทศของยุโรปใช้อยู่ตอนนี้ว่า ควรต้องขยายการบำบัดความคิดสุดโต่งข้างต้นจากเด็กที่เป็นลูกของนักรบจีฮัด ซึ่งเกิดหรือเติบโตในดินแดนที่ไอเอสเคลื่อนไหวมาก่อน เช่น ซีเรีย อิรัก ให้มีแนวคิดและพฤติกรรมที่เป็นปกติ โดยให้ขยายจากเด็กมาสู่ผู้ใหญ่ด้วย ก็น่าจะเป็นผลดีบำบัดให้กลุ่มคนเหล่านี้ คลายแนวความคิดสุดโดต่งในอันที่จะนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมที่รุนแรงได้