ไม่ง่ายดั่งใจคิดกับอิสรภาพที่วาดหวังกันเสียแล้ว สำหรับ “เอกราช” อันเป็น “อธิปัตย์” ที่จะได้ปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระในด้านต่างๆ อย่างนิติบัญญัติ การบริหาร และตุลาการ เฉกเช่นประเทศที่มีเอกราชทั่วๆ ไป ซึ่งเป็น ฝั่งฝันหมุดหมายหลักที่ “กาตาลุญญา” แคว้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน มุ่งมั่นปั้นมือ เมื่อปรากฏว่า รัฐบาลกลางของสเปน ในกรุงมาดริด ภายใต้การนำของ “นายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฆอย” ประกาศ “ยุบสภาแคว้นกาตาลุญญา” หรือที่เรียกว่า “สภาแห่งชาติกาตาลุญญา” หรือ “เอเอ็นซี” พร้อมๆ กับ สั่งปลด “นายการ์ลัส ปุดจ์ดาโมน” ออกจากตำแหน่ง “ประธานทบวงการปกครองกาตาลุญญา” ซึ่งก็คือตำแหน่ง “ผู้นำ” หรือ “ผู้ปกครอง” ของแคว้น ไปเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้จากการที่นายปุดจ์ดาโมน พร้อมด้วย “สภาแห่งชาติกาตาลุญญา” หรือ “เอเอ็นซี” ประกาศให้แคว้นกาตาลุญญามีเอกราช เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางมาดริดของสเปน เมื่อไม่กี่วันก่อน นอกจากปลดนายปุดจ์ดาโมนออกจากตำแหน่ง “ประธานทบวงการปกครองกาตาลุญญา” แล้ว รัฐบาลกลางสเปน ยังประกาศคำสั่งปลด “คณะผู้บริหาร” และ “ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจ” ของแคว้นกาตาลุญญาอีกต่างหากด้วย โดยประกาศคำสั่งปลดข้างต้น ก็นับเป็นปฏิบัติการขั้นตอนต่อมา ภายหลังจาก “ศาลสูง” ของสเปน พิพากษาไปก่อนหน้าว่า “ประชามติ” ที่ทางแคว้นกาตาลุญญาจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ไม่ถูกต้องในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 155 ที่ระบุให้ประเทศสเปนเป็นหนึ่งเดียว จะมาแบ่งแยกมิได้ พร้อมๆ กันนั้น ทางรัฐบาลกลางสเปนของนายกรัฐมนตรีราฆอย ก็กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น เฉพาะแคว้นกาตาลุญญากันใหม่ เรียกว่า คืนอำนาจให้ประชาชนชาวแคว้นกาตาลุญญาตัดสินชี้ชะตาอนาคตของตนเองกันใหม่อีกครั้งว่า จะกำหนดทิศทางแคว้นของตนเองกันอย่างไร? ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ ก็แสดงทรรศนะว่า ทางรัฐบาลกลางสเปน ก็อาจชูธงคนของตนเองให้ “มีเปรียบ” ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้น เพื่อให้แว่นแคว้นเจ้าปัญหาแห่งนั้น อยู่ในเงื้อมอำนาจของรัฐบาลกลางมาดริดต่อไป อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลกลางสเปนของนายกรัฐมนตรีราฆอย ก็ใช่ว่าจะปิดเส้นทางการเมืองของฝ่ายสนับสนุนเอกราชกาตาลุญญาเสียเลยทีเดียว แม้ว่าหลายฝ่ายอาจเห็นว่า เป็นเพียงการเปิดแบบแก้เกี้ยวกันเท่านั้น เมื่อทางนายอิกนาซิโอ เมนเดซ เด บีโก โฆษกรัฐบาลสเปน ออกมาระบุว่า นายปุดจ์ดาโมน ยังมีสิทธิ์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้อยู่ ทว่า การชิงชัยในสมรภูมิเลือกตั้งท้องถิ่นของนายปุดจ์ดาโมนหนนี้ ก็มิใช่ราบรื่นสะดวกโยธิน เพราะทางสำนักงานอัยการสเปน ในกรุงมาดริด ก็เตรียมรวบรวมหลักฐานต่างๆ ในการที่จะตั้งข้อหาดำเนินคดีต่อนายปุดจ์ดาโมน ถึงขั้นว่าจะตั้งข้อหาเป็น “กบฏ” กันเลยทีเดียว จากการที่เขาประกาศเอกราชแคว้นกาตาลุญญา นอกจากนายปุดจ์ดาโมนที่จะต้องสู้ศึกทางคดีความแล้ว ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ของแคว้นกาตาลุญญา ต้องเดินทางเข้า – ออก ศาลกันเป็นว่าเล่นอีกมิใช่น้อยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น “นายโจเซฟ หลุยส์ ตราเปโร อัลบาเรซ” ในฐานะ “ผบ.ตร.กาตาลุญญา” ที่รัฐบาลกลางสเปน สั่งเด้งออกจากตำแหน่ง โดยตัวเขาเอง ตกเป็นจำเลยและถูกไต่สวนกันไปหลายยกแล้ว เช่นเดียวกับ “นายฆอร์ดี ซานเชซ” ผู้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาแห่งชาติกาตาลุญญา” หรือ “เอเอ็นซี” ก็ได้ถูกจับกุมตัวกันไปก่อนหน้า ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ถือเป็นฝ่ายสนับสนุนเอกราชแคว้นกาตาลุญญา ขณะที่ ในส่วนของบรรยากาศประชาชนชาวแคว้นกาตาลุญญา ก็ต้องแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายกันชัดเจน แบบเห็นด้วยก็ไม่น้อย เห็นต่างก็อีกมาก สำหรับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแว่นแคว้นของพวกเขา โดยการสำรวจความคิดเห็นประชาชน หรือโพลล์ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยหนังสือพิมพ์เอลเปส์ในสเปน ระบุว่า ประชาชนชาวกาตาลุญญาจำนวนร้อยละ 52 สนับสนุนการยุบสภาของแคว้น รวมถึงต้องการให้จัดเลือกตั้งสภาเอเอ็นซีกันใหม่ ส่วนผู้ที่คัดค้านมีจำนวนร้อยละ 43 เรียกว่า แบ่งขั้วกันชัดเจน เกี่ยวกับการคืนอำนาจสู่ประชาชนให้มาตัดสินชี้ชะตาอนาคตของตนเองกันใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความเห็นเกี่ยวกับการประกาศเอกราชของทางแคว้น ปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วยที่จะให้แคว้นกาตาลุญญาของพวกเขาได้รับเอกราช จำนวนถึงร้อยละ 41 ขณะที่ ผู้ไม่เห็นด้วยมีจำนวนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ต้องถือว่า ตัวเลขผลโพลล์ที่ออกมา ก็สร้างความร้อนๆ หนาวๆ ให้แก่รัฐบาลกลางสเปนอยู่มิใช่น้อย ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า เรื่อง “เอกราช” นี้ จะเป็นประเด็นหลักในนโยบายของการรณรงค์หาเสียงจากเหล่าผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นของแคว้นกาตาลุญญาหนนี้กันเลยทีเดียว ทว่า อย่างไรก็ดี แม้ทางฝ่ายสนับสนุนเอกราชกาตาลุญญาอาจฟันฝ่าวิบากจากภายในสเปนเอง จนเป็นฝ่ายมีชัย แต่ก็มิใช่เรื่องง่ายๆ ที่ไปถึงฝั่งฝันแห่งดวงดาวของความมีเอกราชข้างต้น จนกลายเป็น “สาธารณรัฐกาตาลุญญา” ให้ปลื้มใจ เพราะยังมีขวากหนามจากนานาชาติ ไว้รอเข้าเคลียร์ หลังบรรดาผู้นำประเทศชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในหมู่ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น อันเป็นคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญจนทำให้แคว้นกาตาลุญญา เรืองรุ่งด้านสถานะทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ประกาศที่จะยืนเคียงข้างรัฐบาลกลางมาดริดของสเปน ไม่เอาด้วยกับเอกราชของกาตาลุญญา ซึ่งจะส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารและปกครองแก่แว่นแคว้นแห่งนี้ให้ต้องคิดหนักกันมิใช่น้อย