กรมการแพทย์ พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ “ผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ” (One Day Surgery) ลดเวลารอคอย ลดค่าใช้จ่าย ลดความแออัด ได้รับการรักษาที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาระยะเวลารอรับบริการ ความแออัดในโรงพยาบาล จำนวนเตียง มาตรฐานการรักษา ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์แนวใหม่เพื่อประชาชน One Day Surgery (ODS) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบไม่ต้องรับเป็นผู้ป่วยในและอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักค้างคืน การผ่าตัดรูปแบบใหม่วันเดียวกลับ มีหลักการคือ ผู้ป่วยเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดมาจากที่บ้านและมารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล ซึ่งหลังพักฟื้นจากการผ่าตัดไม่กี่ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองและกลับบ้านได้ภายในวันเดียว ทำให้ลดเวลานอนในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติระหว่างมาโรงพยาบาล รวมทั้งช่วยลดระยะเวลารอคอยผ่าตัด ทำให้รักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องรอเตียงว่าง ลดความแออัดในโรงพยาบาล มีเตียงรองรับผู้ป่วยผ่าตัดฉุกเฉินหรือโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลให้สามารถเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัย โดยโรคหรือภาวะ ที่สามารถรับบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ เช่น โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดดำโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องท้อง ภาวะอุดตันของหลอดอาหารจากมะเร็งหลอดอาหาร นิ่วในท่อน้ำดี ฯลฯ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (ODS) โดยกำหนดให้โรงพยาบาลในสังกัดดำเนินการระบบดังกล่าว เริ่มจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมแล้วขยายไปอย่างน้อย 1 โรงพยาบาลในทุกเขตสุขภาพ ทั้งนี้ เกณฑ์เป้าหมายของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ODS กำหนดในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 15 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี 2564 อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเน้นย้ำว่า นโยบายการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ หรือ One Day Surgery (ODS) จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการได้มากขึ้น ได้รับการรักษาที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย สะดวก สามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำงานได้เร็วขึ้น เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนแบบองค์รวม