กรรมการอิสระฯผลักดันดิจิทัลยกคุณภาพการศึกษา ชงปรับหลักสูตร-การวัดผลเด็กเน้นสมรรถนะ จัดระบบดูแลเด็กพิเศษเป็นการด่วน! ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอืสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการจัดการเรียนการสอน ซึ่งคณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอน ที่มี ผศ.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ เป็นประธานนำเสนอ ซึ่งเรื่องของการจัดการเรียนการสอนกว้างขวางมาก และหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปฯ คือต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาของการศึกษาให้มีคุณภาพ ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า การจะปรับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นต้องอาศัยโอกาสจากวิวัฒนาการของดิจิทัล ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอที่จะให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่ระบบดิจิทัล โดยผลักดันให้ดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา นอกจากนี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากที่เป็นเนื้อหาสาระก็จะเน้นสมรรถนะ โดยมีการพูดถึงการอ่านออกเขียนได้ การมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ หรือการคำนวณที่เพียงพอกับการใช้ชีวิต และมีสถาบันหลักสูตรการเรียนการสอน และคลังดิจิทัลแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ดูแลแทนกรมวิชาการที่ถูกยุบไป
ทั้งนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแล้ว จะเกี่ยวโยงไปถึงการสอบวัดผลประเมินผล ที่ต้องเปลี่ยนมาวัดสมรรถนะ แทนเนื้อหาสาระอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย
ศ.นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการเปลี่ยนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่ไม่ใช่การสอบเพื่อเลื่อนชั้น หรือการสอบได้-สอบตก แต่ต้องเป็นการสอบที่วัดสมรรถนะของเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาเน้นเนื้อหาสาระทำให้ต้องสอบปรนัย เด็กที่อยากสอบได้ก็ต้องไปกวดวิชา ครูก็ต้องกวดวิชาให้ ซึ่งเป็นวงจรที่เกิดจากการสอบเป็นตัวกำกับพฤติกรรมการของเด็ก หากจะปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นก็ต้องปฏิรูปการสอบที่วัดสมรรถนะแทน และสุดท้ายคือเรื่อง เด็กลักษณะพิเศษ ทั้งที่พิการร่างกาย พิการสมอง และเด็กที่เรียนอ่อน-เรียนช้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ที่ประชุมเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการดูแลเด็กเหล่านี้เป็นพิเศษจริงๆ ซึ่งต้องมีการดูแลมากกว่าการได้จากเงินกองทุน ทั้งนี้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นธรรมนูญการศึกษา ที่แปลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ออกมา ว่าระบบการศึกษา ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งการจัดการเรียนการสอนก็เป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้น คำตอบสุดท้ายของการปฏิรูปการศึกษา อยู่ที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีการตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1ปี เพื่อให้เวลาที่เหลืออีก1ปีสามารถจัดทำรายละเอียดตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้ทันเวลา ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะหมดวาระ