คน กทม. เกินครึ่งอยากให้ภาครัฐส่งเสริมแอปพลิเคชั่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรียกร้องให้รัฐจัดการเรื่องค่าโดยสารเกินอัตรา ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร เก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,053 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 12 - 14 กันยายน 2560 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 99% และความผิดพลาดไม่เกิน 4% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,406 กลุ่ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร เปิดรับลงทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ เป็นการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยรถจักรยานยนต์ที่นำมาใช้จะต้องจดทะเบียนถูกต้อง (ป้ายเหลือง) ผู้ขับรถ เสื้อวิน บัตรประจำตัว และรถจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์หรือการปล่อยให้เช่าเสื้อวิน ทั้งนี้ หากพบการนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ระยะเวลา 3 ปี จุดที่น่าสนใจคือการที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่สามารถจอดรับผู้โดยสารได้เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่ของตนเองทำให้เกิดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างประชาชนในกรุงเทพมหานครนั้นมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่ามีการจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างโดยภาครัฐ โดยมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง เสื้อวิน และมีบัตรประจำตัวตรงกับผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 58.0 แต่มีการใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีป้ายทะเบียนสีดำร้อยละ 35.0 และไม่แน่ใจร้อยละ 36.9 สะท้อนว่าผู้ใช้บริการรับรู้เกี่ยวกับการจัดระเบียบของภาครัฐแต่ยังใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างป้ายทะเบียนสีดำ และอยากให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีการปรับปรุงในเรื่องการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราเป็นอันดับแรก ร้อยละ 35.2 อันดับที่สอง คือการขับรถเร็ว/ผิดกฎจราจร ร้อยละ 32.1 อันดับที่สามคือไม่จอดรับ/ปฏิเสธผู้โดยสาร ร้อยละ 28.9 อันดับที่สี่คือ สภาพรถจักรยานยนต์/หมวกกันน็อก ร้อยละ 25.1 และอันดับที่ห้าคือ มารยาทของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 23.8  กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.8 เคยเรียกใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่น (Application) โดยอันดับหนึ่งคือ แกร็บไบค์ (GrabBike) ร้อยละ 60.7 อันดับสอง คือ โกไบค์ (Go Bike)  ร้อยละ 20 อันดับที่สาม คือ บานาน่าไบค์ (Banana Bike)  ร้อยละ 17.1 และอันดับที่สี่ คือ อูเบอร์โมโต (Ubermoto)  ร้อยละ 13.6 ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 57.2 ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมแอพพลิเคชั่นในการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยร้อยละ 52.7 คิดว่าการใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น ทำให้ทราบราคาค่าโดยสารที่แน่นอน ทำให้รู้สึกมั่นใจและปลอดภัย ร้อยละ 52.4 และ เพื่อความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินไปขึ้นที่วิน ไม่ต้องรอ/หามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 49.7 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.2 ต้องการให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ลงทะเบียนกับแอปพลิเคชั่น รายละเอียดของการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร 1. ในปัจจุบันท่านใช้งานมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะเหตุผลใด (ตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก) เพื่อความรวดเร็ว ร้อยละ 59.2 ลดปัญหาการหาที่จอดรถ ร้อยละ 33.8 เพื่อความสะดวกสบาย ร้อยละ 41.8 อื่นๆ ร้อยละ 1.3 2. ท่านทราบหรือไม่ว่า มีการจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างของทางภาครัฐ โดยมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง เสื้อวิน บัตรประจำตัว ตรงกับผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทราบ ร้อยละ 58.0 ไม่ทราบ ร้อยละ 28.7 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.3 3. ในปัจจุบันท่านจะใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีป้ายทะเบียนสีดำหรือไม่ ใช่ ร้อยละ 35.0 ไม่ใช่ ร้อยละ 28.1 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 36.9 4. ท่านคิดอยากให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีการปรับปรุงในเรื่องใดมากที่สุด (ตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก) เรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา ร้อยละ 35.2 ไม่จอดรับผู้โดยสาร/ปฏิเสธผู้โดยสาร ร้อยละ 28.9 ขับรถเร็ว/ผิดกฎจราจร ร้อยละ 32.1 สภาพรถจักรยานยนต์/หมวกกันน็อก ร้อยละ 25.1 มารยาทของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 23.8 การหารถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ได้ ร้อยละ 20.6 5. ท่านคิดว่าการลงทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้างของทางภาครัฐ ช่วยแก้ไขให้ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา ในการใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ใช่หรือไม่ ใช่ ร้อยละ 55.8 ไม่ใช่ ร้อยละ 20.2 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 24.0 6. ท่านเคยใช้บริการการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านทางแอปพลิเคชั่น (Application) หรือไม่ เคย ร้อยละ 44.8 ไม่เคย ร้อยละ 55.2 7. หากท่านเคยใช้บริการการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านทางแอปพลิเคชั่น (Application) ท่านใช้บริการผ่านทางแอปพลิเคชั่นใด (ตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก) แกร็บไบค์ (GrabBike) ร้อยละ 60.7 บานาน่าไบค์ (Banana Bike) ร้อยละ 17.1 โกไบค์ (Go Bike) ร้อยละ 20.0 อูเบอร์โมโต (Ubermoto) ร้อยละ 13.6 8. เพราะเหตุใดท่านถึงใช้บริการการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านทางแอปพลิเคชั่น (Application) (ตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก) สะดวก/ไม่ต้องเดิน/ไม่ต้องรอ/หาวิน ร้อยละ 49.7 อยากลอง / ทดลองใช้ ร้อยละ 43.3 อัตราค่าโดยสารที่แน่นอน ร้อยละ 31.6 มั่นใจและรู้สึกปลอดภัย ร้อยละ 24.5 รวดเร็ว ร้อยละ 13.9 9. ท่านคิดว่าการใช้บริการการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านทางแอปพลิเคชั่น (Application) ทำให้ท่านมีความรู้สึกปลอดภัยในการใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มากขึ้นหรือไม่ ใช่ ร้อยละ 52.4 ไม่ใช่ ร้อยละ 19.8 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 27.8 10. ท่านคิดว่าการใช้บริการการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านทางแอปพลิเคชั่น (Application) ทำให้ทราบอัตราค่าโดยสารที่แน่นอนในการใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างใช่หรือไม่ ใช่ ร้อยละ 52.7 ไม่ใช่ ร้อยละ 21.1 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 26.2 11. ท่านอยากให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างลงทะเบียนกับแอปพลิเคชั่น (Application) ในการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือไม่ อยาก ร้อยละ 56.2 ไม่อยาก ร้อยละ 16.7 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 27.1 12. ท่านอยากให้ภาครัฐ มีมาตรการส่งเสริมแอปพลิเคชั่น (Application) ในการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือไม่ อยาก ร้อยละ 57.2 ไม่อยาก ร้อยละ 16.5 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 26.3 ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ 1. เพศ ชาย ร้อยละ 58.4 หญิง ร้อยละ 41.6 2. อายุ ต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 8.6 21 – 25 ปี ร้อยละ 24.7 26 – 30 ปี ร้อยละ 16.5 31 – 35 ปี ร้อยละ 16.8 36 – 40 ปี ร้อยละ 15.1 41 - 45 ปี ร้อยละ 9.7 46 - 50 ปี ร้อยละ 5.3 มากกว่า 50 ปี ร้อยละ 3.3 3. อาชีพ นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา ร้อยละ 30.1 ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.5 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 26.0 นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการส่วนตัว ร้อยละ 16.1 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 11.0 อื่นๆ ร้อยละ 1.3