ผลิตภัณฑ์ “ตาโขนช่วยช่วยลดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” พัฒนามาจากโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา จังหวัดเลย โดยใช้ “สูตรลับ” ผสมดินจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น ทั้งเศษกระดาษ ขี้เลื่อย ใบสับประรด ฟางข้าว ผักตบ ใบข้าวโพด จนได้ดินคุณภาพมาปั้นแจกัน ออมสิน เครื่องประดับ โดยไม่ต้องเอาไปเผา ลดได้ทั้งขยะ มลพิษ พร้อมทำลวดลาย “ผีตาโขน” ช่วยเสริมเอกลักษณ์ให้ท้องถิ่น ทำออกขายเป็นที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าชุมชน ที่โรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยนางสาวชลลดา เชื้อบุญมี เปิดเผยว่า ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนประกอบด้วย นางสาวมณีรัตน์ ไชยนอก และ นางสาวพิชชาวัส เชื้อบุญจันทร์ ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ตาโขนช่วยลดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ ให้มีความสวยงาม คงทน ใช้งานได้ดี มีคุณภาพ และสามารถนำไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทของที่ระลึกประจำอำเภอและจังหวัด อาทิ แจกัน กระปุกออมสิน ของตกแต่งบ้าน ซึ่งผลิตจากวัสดุเหลือใช้และเศษวัสดุจากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยนำมาสร้างสรรค์งานให้มีรูปแบบต่างๆ ด้วยกรรมวิธี เช่น การทำด้วยมือ การเพ้นท์ลาย การปั้น การแกะ พร้อมกับใส่ลวดลายของผีตาโขนอันเป็นประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวด่านซ้าย ที่มีประวัติและความเป็นมาอันยาวนานและมีแห่งเดียวในโลก เพื่อให้เป็นจุดเด่นของชิ้นงานและให้มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และยังเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยาอีกด้วย “ในอำเภอด่านซ้าย มักพบเจอปัญหาเรื่องขยะ มลภาวะทางอากาศและทางน้ำ เช่น การเผาไหม้พวกฟางข้าว หญ้าที่ตัด เผาใบข้าว ทำให้อากาศเป็นพิษและผักตบชวาเวลาน้ำท่วม ก่อให้เกิดปัญหาผักตบชวาอุดตันท่อ ทำให้น้ำขังเป็นเวลานาน เราเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ในชุมชนอำเภอด่านซ้าย จึงนำมาประดิษฐ์เป็นชิ้นงาน ซึ่งได้นำผีตาโขนที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย นำมาถ่ายทอดลงในชิ้นงาน ได้แก่ แจกันและกระปุกออมสินรูปผีตาโขน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำออกขายเป็นของที่ระลึก สร้างรายได้ให้ชุมชนได้เป็นอย่างดี” นางสาวชลลดา กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น ได้เน้นการนำเอาวัสดุเหลือใช้ และเศษวัสดุจากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่หาได้ง่ายมาผลิตเป็นสินค้า เช่น เศษกระดาษทุกชนิด ขี้เลื่อย ใบสับประรด ฟางข้าว ผักตบ ใบข้าวโพด หญ้าแฝก เศษหญ้าแห้ง เศษใบไม้แห้ง เป็นต้น และยังได้คิดค้นสูตรผสมดินจากวัสดุที่เหลือในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมหลัก โดยมีการคิดค้นจนได้ดินที่มีคุณสมบัติพิเศษมากกว่าดินที่ใช้ปั้นทั่วไป คือ เมื่อผสมดินตามสูตรส่วนผสมที่คิดค้นขึ้นแล้ว ถ้าเป็นดินโดยทั่วไปจะต้องเข้าเตาเผา 2-3 วัน จึงจะแข็งตัวและใช้งานได้ แต่ดินที่คิดค้นขึ้นนั้น ทำงานได้ง่ายและไม่ต้องผ่านการเผา จึงไม่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ สามารถแห้งและแข็งตัวได้ประมาณ 1-2 วัน โดยการตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้ง และยังมีความแข็งแรงและทนทานกว่าดินที่เผา แม้ตกก็ไม่แตกหักง่าย เศษวัสดุเหลือใช้และเศษวัสดุจากธรรมชาติที่กล่าวมาในข้างต้นทั้งหมดนี้ สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ช่วยลดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “ผลิตภัณฑ์ตาโขนลดโลกร้อนดังกล่าวได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ถือเป็นกำลังใจที่สำคัญให้กับเด็กนักเรียนและทุกคนในชุมชนอำเภอด่านซ้ายที่จะสามารถคิดค้นต่อยอดในการนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกับการสืบสานอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้กับชุมชนควบคู่กันไป” นางสาวชลลดา กล่าว