"คอนกรีตบล็อกสีเขียว" เป็นผลงานการพัฒนาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีโดย นายประชุม คำพุฒ ร่วมกับ นายกิตติพงษ์ สุวีโร และ นายธวัชชัย อริยะสุทธิ โดยใช้เศษพลาสติกอีวีเอที่เหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าที่ประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก และเถ้าแกลบที่เหลือทิ้งจากโรงงานชีวมวลมาเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต มีการใช้ทรัพยากรตามหลักการ 3R ได้แก่ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยใช้แนวความคิดและกระบวนการผลิตอิฐบล็อกมวลเบาประเภทการใช้รวมน้ำหนักเบา คือ ใช้เถ้าแกลบทดแทนปูนซีเมนต์บางส่วน และใช้พลาสติกอีวีเอที่มีน้ำหนักเบามากและมีความยืดหยุ่นตัวสูง มาผ่านกระบวนการบดย่อย และแยกขนาด ทำเป็นมวลรวมผสมแทนที่หินฝุ่นบางส่วนตามอัตราส่วนที่ได้ออกแบบไว้ อัดขึ้นรูปด้วยเครื่องอัดแบบกึ่งไฮดรอลิกได้เป็นผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกสีเขียวจากเศษพลาสติกอีวีเอ ที่มีความสวยงาม ประณีต และมีเอกลักษณ์ มีลักษณะดีเด่นในด้านของน้ำหนักเบา มีคุณสมบัติการเป็น ฉนวนความร้อนดีเท่ากับอิฐมวลเบา ในขณะที่มีคุณสมบัติด้านความแข็งแรง การดูดซึมน้ำต่ำ และมีการยืดหดตัวน้อยเหมือนกับอิฐบล็อกปกติทั่วไป หรือกล่าวสรุปโดยง่ายว่า มีคุณสมบัติเด่นทุกด้านที่ต้องการดีเทียบกับอิฐมวลเบาและอิฐบล็อกผสมกัน โดยมีต้นทุนกระบวนการผลิตต่ำเหมือนกับการผลิตอิฐบล็อกปกติ ไม่ยุ่งยากและราคาสูงเหมือนการผลิตอิฐมวลเบา นายประชุม คำพุฒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า ได้ส่งผลงาน “คอนกรีตบล็อกเขียว : คอนกรีตบล็อกมวลเบาจากเศษพลาสติกรักษ์สิ่งแวดล้อม” หรือ “กรีนบล็อก” (Green-Block) เข้าร่วมประกวดผลงานผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ ให้มีความสวยงาม คงทน ใช้งานได้ดี มีคุณภาพ และสามารถนำไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยผลงานคอนกรีตบล็อกเขียว ได้รับการตัดสินให้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 และรางวัลพิเศษ คือ รางวัลผลโหวตยอดเยี่ยม ซึ่งมาจากการลงคะแนนของประชาชนและสื่อมวลชน