กรมหม่อนไหม เปิดแผนขับเคลื่อนงานปี 61 มุ่งสร้างเกษตรกร-บุคลากรมืออาชีพ รองรับการแข่งขันเกษตร 4.0 พร้อมพัฒนาการบริหารจัดการหม่อนไหมครบวงจร บูรณาการความร่วมมือยกระดับสินค้าคุณภาพมาตรฐานป้อนตลาดโลก นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยทิศทางขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรมหม่อนไหมปีงบประมาณ 2561 ว่า กรมหม่อนไหมมีแผนเร่งขับเคลื่อนขยายผลและสานต่อการพัฒนาสินค้าหม่อนไหมของไทยให้สอดรับกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดยกรมหม่อนไหมได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานปี 2561 ให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับเกษตรกร และบุคลากรด้านหม่อนไหม การบริหารจัดการ มาตรฐานหม่อนไหม รองรับเกษตร 4.0” มุ่งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและบุคลากรด้านหม่อนไหมให้เป็นมืออาชีพ เพื่อรองรับการแข่งขันยุคเกษตร 4.0 รวมทั้งยกระดับผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ (Smart Farmer) เน้นส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านครูภูมิปัญญาหม่อนไหม สร้าง Unit School ด้านหม่อนไหมในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พัฒนาทายาทหม่อนไหมเพื่อให้เป็นยังสมาร์ทฟาร์เมอร์ (Young Smart Farmer) ทดแทนเกษตรกรรุ่นเดิมและสืบสานอาชีพการเลี้ยงหม่อนไหมให้คงอยู่ ทั้งยังมุ่งพัฒนาบุคลากรและเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหมให้เป็นสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ (Smart Officer) ควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาการบริหารจัดการสินค้าหม่อนไหมแบบครบวงจร โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านหม่อนไหมมาสนับสนุนงานนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหม โดยปี 2561 มีเป้าหมายพัฒนาสินค้าหม่อนไหมภายใต้ระบบแปลงใหญ่ ไม่น้อยกว่า 25 แปลง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ ศพก.ด้านหม่อนไหม เป้าหมาย 3 ศูนย์หลัก และ 3 ศูนย์เครือข่าย พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป้าหมาย 2,000 ไร่ ส่งเสริมการผลิตหม่อนไหมอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าไม่น้อยกว่า 160 ไร่ และพัฒนาการผลิตสินค้าหม่อนไหมโดยตั้งเป้ายกระดับผลิตภัณฑ์เข้าสู่มาตรฐาน 600 ราย อีกทั้งจะดำเนินการขยายผลพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธนาคารหม่อนไหม จำนวน 16 แห่ง และช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรสมาชิก บูรณาการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานเกษตรทฤษฎีใหม่ เน้นเกษตรกรนอกพื้นที่แปลงใหญ่ไม่น้อยกว่า 1,500 ราย และส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหมและฝ้ายภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เป้าหมาย 475 ราย พื้นที่ 495 ไร่ นอกจากนั้น ยังมุ่งพัฒนาสินค้าหม่อนไหมให้เป็นสมาร์ทโพรดักชั่น (Smart Production) ป้อนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับสินค้าคุณภาพสูง มีความปลอดภัยและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเน้นงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค มีการค้นคว้านวัตกรรมภูมิปัญญาและเครื่องจักรกลด้านหม่อนไหมสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดรับความต้องการของตลาด ตลอดจนผลักดันการกำหนดมาตรฐานด้านหม่อนไหม อาทิ มาตรฐานไหมอินทรีย์ และมาตรฐานแผ่นใยไหม เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าหม่อนไหมซึ่งมีเป้าหมายตรวจรับรองมาตรฐานแปลงหม่อนจีเอพี (GAP) ไม่น้อยกว่า 300 แปลง ส่งเสริมการผลิตเส้นไหมตามมาตรฐาน มกษ. และสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอ (GI) ส่งเสริมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และตั้งเป้าในการตรวจรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานให้ได้ 75,000 เมตร นอกจากนี้ยังแผนส่งเสริมเศรษฐกิจและการตลาดหม่อนไหมทั้งภายในและต่างประเทศ เช่น การจัดงานตรานกยูงพระราชทานฯ การจัดประกวดเส้นไหม การออกร้านตามภูมิภาคต่างๆ และจัดโรดโชว์ผลิตภัณฑ์ไหมไทยในต่างประเทศ ทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ “งานตามภารกิจพื้นฐานขององค์กรยังคงขับเคลื่อนตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์และคุ้มครองหม่อนไหม การสนับสนุนโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ และการผลิตพันธุ์หม่อนไหมและวัสดุย้อมสี เป็นต้น ขณะเดียวกันปีนี้กรมหม่อนไหมได้เน้นสร้างการรับรู้โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation หรือ IO) เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลหม่อนไหมได้มากที่สุด ทั้งยังมีแผนบูรณาการและสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนางานด้านหม่อนไหมของประเทศไทย ซึ่งคาดว่า จะช่วยยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าหม่อนไหมให้เป็นที่ยอมรับของสากล และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างยั่งยืน ทำให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”