โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนจนถึงแม่น้ำแม่กลองมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาทใกล้คลอด กรมชลประทานสรุปผลการศึกษา สร้างเป็นโครงข่ายในการส่งและระบายน้ำ เชื่อมโยง68 คลอง ใช้อาคารบังคับน้ำ 86 แห่งบริหารจัดการ มั่นใจแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคกลางตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดําเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนจนถึงแม่น้ำแม่กลอง เพื่อแก้ปัญหานํ้าท่วมที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้างซึ่งผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินการปรับปรุงระบบชลประทานในพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่พื้นที่ใต้คลองท่าเรือ-บางพระ จนไปถึงทะเล ร่วมกับคลองในแนวนอนจากแม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำท่าจีน โดยจะเชื่อมโยงระบบคลองต่างๆเป็นโครงข่ายในการส่งน้ำและระบายน้ำ มีจำนวนทั้งสิ้น 68 คลอง ซึ่งมีทั้งคลองชลประทานและคลองธรรมชาติ ประกอบด้วย กลุ่มคลองในแนวนอนเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลอง-แม่น้ำท่าจีน จำนวน 4คลอง กลุ่มคลองในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงจากคลองท่าผา-บางแก้ว จนถึงทะเล 3 แนว จำนวน 22 คลองและกลุ่มคลองที่เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและระบายน้ำจำนวน 42 คลอง อย่างไรก็ตามในจำนวนทั้ง 68 คลองดังกล่าว จะมีคลองที่ดำเนินการปรับปรุง-ขุดลอกจำนวน 32 คลอง ที่เหลืออีก 36 คลอง ไม่ต้องปรับปรุง นอกจากการปรับปรุงคลองแล้ว ยังจะต้องดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ เช่น สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ เป็นต้น เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูน้ำหลากและฤดูน้ำแล้ง จำนวน 43 อาคาร จากทั้งหมด ที่จะต้องนำมาใช้บริหารจัดการน้ำทั้งสิ้น 86 อาคาร โดยอาคารบังคับน้ำที่ปรับปรุงทั้ง 43 อาคารนั้นแบ่งเป็นอาคารเดิมมีสภาพชำรุดและใช้งานมานาน ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มช่องระบายน้ำ หรือถ้าชำรุดมากจะต้องทำการรื้อถอนก่อสร้างใหม่แทนอาคารเดิม เพื่อใม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในระบบโครงข่าย มีจำนวนทั้งหมด 21 อาคาร ที่เหลืออีก 22 อาคาร เป็นอาคารบังคับน้ำที่เสนอก่อสร้างใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกดังกล่าว ยังจะต้องทำการปรับปรุงแนวคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบด้วย โดยเริ่มต้นจาก ปตร.บางนกแขวก ต.บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ไปสิ้นสุดที่ ปตร.บางยาง ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 62 กม. พร้อมปรับปรุง/ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำตามแนวคันควบคุมน้ำทะเล จำนวน 34 คลอง ซึ่งจะมีอาคารบังคับน้ำประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารที่ใช้การได้ 10แห่ง กลุ่มอาคารที่จะต้องปรับปรุง 7 แห่ง และ กลุ่มอาคารที่เสนอก่อสร้างใหม่19แห่ง (รวมแผนก่อสร้างอาคารบังคับน้ำใหม่ในโครงข่ายระบบชลประทาน 2 แห่ง ได้แก่ อาคารบังคับน้ำในคลองบางคนที และคลองทองหลางด้วย) สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย งานปรับปรุง-ขุดลอกคลอง งานปรับปรุง-ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ และงานปรับปรุงแนวคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบนั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 15,767.80 ล้านบาท (ไม่รวมค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน) ใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการประมาณ 5 ปี ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเปรียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและการระบายน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ตอนล่างระหว่าง แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง ลดภาระในการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีนลง เพิ่มปริมาตรน้ำเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ลดผลกระทบจากการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่ชลประทาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก “หากการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนจนถึงแม่น้ำแม่กลองแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัดคือ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงครามและสมุทรสาคร ลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาล รวมทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ในคลองชลประทานและคลองธรรมชาติที่ปรับปรุงได้เพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าวในตอนท้าย