พระราชดำรัส-พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรมจริยธรรม (จบ) เรื่องการทำสิ่งที่ดีงามไม่ใช่ของที่พ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสไว้หลายวาระหลายโอกาสเพื่อทรงเน้นย้ำพสกนิกรน้อมนำปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ดังพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ในที่ประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2516 ความตอนหนึ่งว่า “...การแก้ไขปัญหาเยาวชนที่ยุวพุทธิกสมาคมจะทำได้อย่างดี ควรจะได้แก่ การปลูกฝังความคิดจิตใจที่สุจริต และส่งเสริมความประพฤติที่ดีงามต่างๆ ในการนี้ มีจุดสำคัญที่เป็นหลักปฏิบัติอยู่ ที่จะต้องพิสูจน์ว่าการทำสิ่งที่ดีงามนั้นไม่ใช่ของที่พ้นสมัยหรือที่น่ากระดากอาย หากเป็นของที่ทุกคนทำได้ไม่ยากและให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เพราะความดีนั้นทรงค่าและทรงผลดีอยู่ตลอดกาลมิได้เปลี่ยนแปลง มีแต่ค่านิยมในความดีเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง...” การปิดทองหลังพระเป็นอีกหลักคิดในการเดินตามหลักคุณธรรมจริยธรรมทำความดีงามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2506 ความตอนหนึ่งว่า “...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้...” เรื่อง ความสามัคคี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนอกจากทรงชี้ให้เห็นผ่านหลักปฏิบัติที่ทรงทำเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยแล้วยังพระราชทานพระราชดำรัสเน้นย้ำหลายวาระโอกาส ดังพระราชทานพระบรมราโชวาทพระราชทานในที่ประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2512 ความตอนหนึ่งว่า “...บัดนี้ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้านและต้องการความสามัคคี ความสงบเรียบร้อย ผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้องและปฏิบัติตนอยู่ในทางเป็นประโยชน์ส่วนรวม กรณียกิจอันสำคัญของท่านทั้งหลาย คือ การส่งเสริมประชาชนให้มีพระรัตนตรัยและธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นหลักของใจและความประพฤติด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง คือ ความเชื่อในเหตุที่แท้ ในผลที่แท้ไม่สับปลับ และปัญญาสามารถรู้ตามความเป็นจริงอันเกิดจากความสงบแน่วแน่ของจิตให้เกิดขึ้นในตนเองก่อน จึงสามารถพิจารณาให้เห็นวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติได้...” หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราโชวาท ในการสัมมนาของสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2525 ความตอนหนึ่งว่า “...ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญาความสามารถและโอกาสของตนๆ ที่มีอยู่ ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง กระจ่างชัดขึ้นในหลักธรรม เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์แล้ว ก็น้อมนำมาปฏิบัติ ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและการงานของตน เพื่อให้เกิดความสุขความสงบร่มเย็น และความเจริญงอกงามในชีวิตเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ตามขีดความประพฤติของแต่ละคน ถ้าชาวพุทธรู้ธรรมะปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องทั่วถึงกันมากขึ้น ปฏิบัติการบ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมองก็ลดน้อยลง เพราะทุกวันนี้ ที่เกิดความเสื่อมความเสียหายก็มิใช่ผู้ใดใครอื่น ทำให้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธผู้ไม่รู้ไม่เข้าใจและไม่ปฏิบัติธรรมะทำขึ้นเกือบทั้งนั้น...” เรื่องของศาสนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแนวพระราชดำริชี้ให้เห็นถึง จุดมุ่งหมายของศาสนา ดังพระราชทานพระบรมราโชวาท ในที่ประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2518 ความตอนหนึ่งว่า “...จุดมุ่งหมายโดยตรงแท้ของศาสนาทั้งปวง และโดยเฉพาะของพระพุทธศาสนา มุ่งจะให้บุคคลศึกษาพิจารณาหลักการและแนวความคิดในศาสนธรรมแล้วน้อมนำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติด้วยตนตามความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการครองชีวิต คือให้เกิดความผาสุกร่มเย็นและความเจริญในแต่ละบุคคล ในส่วนรวม และให้เกิดความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเป็นประโยชน์...” เรื่องพระพุทธศาสนาบริบูรณ์ด้วยสัจธรรมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราโชวาท ในการประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2512 ความตอนหนึ่งว่า “...พระพุทธศาสนาบริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกระดับ แต่จะต้องศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจและปฏิบัติให้เหมาะสมแก่สภาวะปัจจุบันด้วยศรัทธาและปัญญาถูกต้อง จึงจะเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นได้...” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9พระราชทานพระบรมราโชวาท ถึงชาวพุทธที่แท้ ในการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2537 ความตอนหนึ่งว่า “...ชาวพุทธที่แท้จึงเป็นผู้คิดชอบ ปฏิบัติชอบอยู่เป็นปกติ อยู่ ณ ที่ใดก็ทำให้ที่นั้นสงบร่มเย็น มีแต่ความปรองดองสร้างสรรค์ จึงเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้คนไทยทุกเชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความสุข มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน มีการสงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกัน และมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี...” วันนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงพสกนิกรชาวไทยอย่างมิทรงรู้เหน็ดรู้เหนื่อย ตลอดพระชนมชีพทรงตรากตรำงานอย่างหนักเพื่อให้ทรงบรรลุเป้าหมายคือความสุขความสงบร่มเย็นของราษฎรทุกหมู่เหล่า โดยทรงเน้นย้ำให้ประชาชนดำเนินชีวิตด้วยหลักคุณธรรมจริยธรรม ผ่านพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทและพระราชจริยวัตรแห่งการดำเนินพระองค์อย่างเสมอต้นเสมอปลายมิได้ขาดในแต่ละวันตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ จึง เป็นการสมควรยิ่งที่ประชาชนชาวไทยจะได้ศึกษาเรียนรู้และน้อมนำพระราชดำรัสพระบรมราโชวาท ตลอดจนเดินตามรอยพระยุคลบาทน้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เพื่อนำสู่ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ด้านการพัฒนาตน พัฒนาครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติเจริญอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน เป็นสังคมที่พรั่งพร้อมคุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐานของการพัฒนา นำสู่สังคมแห่งความ “รู้ รัก สามัคคี” และ “อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” สืบไป รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสานพระราชปณิธาน สืบสานต่อยอดพัฒนาในพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆมากมายเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎรไทยนำพาชีวิตตนเองครอบครัวและประเทศชาติสู่ความเป็นอยู่สุขสงบร่มเย็นสืบไปตราบนานเท่านาน