ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จัดโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ “Short Science Film” ปีที่ 3 ขึ้น ซึ่งได้มีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้ามาร่วมในโครงการมากมาย โดยปีนี้จัดประกวดทั้งหมด3 รุ่น ได้แก่ ระดับมัธยม อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยในรุ่นระดับมัธยมศึกษาจะมีการดึง 10 โรงเรียนมัธยมที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกจากทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตภาพยนตร์ ซึ่งมีผู้กำกับมืออาชีพ 5 ท่าน คอยเป็นพี่เลี้ยงตลอดกระบวนการผลิตภาพยนตร์ ทั้งนี้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตภาพยนตร์ ทั้งสิ้น 3 วัน โดยในการอบรมทำหนังสั้นวิทยาศาสตร์นั้น ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น คุณณัฐวุฒิ ชองอมรกุล นักวิชาการกองพัฒนาและผลิตนิทรรศการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ จากอพวช. และ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ และยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับผู้กำกับชื่อดัง เสือ - ยรรยง คุรุอังกูร ซึ่งข้อมูลต่างๆล้วนมีประโยชน์ต่อการผลิตภาพยนตร์สั้น วิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก สำหรับ10 โรงเรียน ที่ผ่านเข้ารอบในการอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ 1.โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร 2.โรงเรียนสา จ.น่าน 3.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ 4.โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น 5.โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพฯ 6.โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี 7.โรงเรียนนานาชาตินีวา กรุงเทพฯ 8.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 9.โรงเรียนสตรีอ่างทอง จ.อ่างทอง และ 10.โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ อย่างไรก็ตามการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ ยังเปิดรับผลงานในระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งสามารถดูรายละเอียดและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.shortsciencefilm.com หมดเขตรับผลงานวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 โดยคาดหวังว่าจะยกระดับการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ให้ไปไกลถึงเวทีระดับโลก และในอนาคตจะนำผลงานเข้าประกวด ที่ประเทศญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ผลักดันให้ประเทศมีการผลิตหนังวิทยาศาสตร์ที่ดีมีคุณภาพ ทัดเทียมประเทศที่มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ “หัวข้อปีนี้จะเน้นไปในเรื่องของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ใกล้ตัว และใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด ปีนี้เราก็คาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับดีเหมือนปีที่ผ่านๆ มา เพราะ2ปีที่ผ่านมาถือว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการสร้างสรรค์ผลงานเล่าผ่านรูปแบบของภาพยนตร์สั้นทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน มีการร้อยเรียงเรื่องราว สอดแทรกวิทยาศาสตร์ นำเสนอในหลากหลายรูปแบบตามจินตนาการ ในแบบฉบับของตนเอง อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น แนวแอคชั่น แนวดราม่า แนวคอมเมดี้ หรือแนวอื่นๆโดยไม่จำกัดแนวทาง ตลอดเวลา 8 - 10 นาที” ผศ.ดร.รวิน กล่าว