ห่วงผลกระทบวงกว้าง/ตั้งก.ก.วิสามัญพิจารณา 90 วัน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า สาเหตุที่กทม.นำร่างข้อบัญญัติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ให้สภากทม.พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งเนื่องจากข้อบัญญัติเดิมปี 47 อาจมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน และเห็นสมควรให้แก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงยิ่งขึ้น เช่น แบ่งประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสียเป็นกลุ่ม 3 คือ 1.อาคารบ้านเรือนที่อาศัย อาคารแถว 2.หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่ทำการเอกชน องค์กรระหว่างประเทศมูลนิธิ ศาสนสถาน โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารชุด คอนโดฯ อพาร์ทเมนต์ หอพัก,สถานที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก 3.โรงแรม โรงงาน ,สถานที่ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ละประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสียมีการใช้น้ำที่แตกต่างกันหากให้จ่ายอัตราเท่ากันก็จะไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ จะพิจารณากำหนดอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียใหม่จากเดิมที่คิดตามจำนวนน้ำประปาหรือน้ำบาดาลที่ใช้ ร้อยละ 100 จะเป็นร้อยละ 80/เดือน มองว่าในความเป็นจริงเราคงไม่สามารถผลิตน้ำเสียจากน้ำที่ใช้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เป็นธรรมจึงต้องกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำใช้ของแหล่งกำเนิดน้ำเสียนั้นๆ คาดหลังจากสภากทม.พิจารณาและประกาศในราชกิจจาฯแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างประกาศกทม.รองรับอีก 6 ฉบับ ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากทม.มีความเห็นว่าร่างฯดังกล่าวมีผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงควรให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาก่อนรับหลักการร่างข้อบัญญัติฯ นี้โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาร่างข้อบัญญัติก่อนรับหลักการให้ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้การพิจารณาร่างข้อบัญญัติหลังรับหลักการเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งที่ประชุมสภากทม.เห็นชอบให้มีคณะกรรมการวิสามัญ 11 ท่าน กำหนดเวลาพิจารณา 90 วัน