12 องค์กรเอกชนชั้นนำ ยืนยันเจตนารมณ์ เดินหน้าสานพลังประชารัฐ คอนเน็กซ์-อีดี ภายใต้การสนับสนุนอย่างดียิ่งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม ภูมิใจ 711 ผู้นำรุ่นใหม่ ฉายแววโดดเด่น ขับเคลื่อนโครงการในปีแรกจนสัมฤทธิ์ผล ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์หลักโครงสร้างการขับเคลื่อนประเทศ ตามแนวทางสานพลังประชารัฐ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน - คอนเน็กซ์-อีดี (CONNEXT ED) ครั้งที่ 4 ที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้บริหารระดับสูงจาก 12 องค์กรเอกชนใหญ่ระดับประเทศ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กลุ่มมิตรผล บมจ.ปตท. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ บมจ.ไทย ยูเนี่ยนกรุ๊ป และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดขึ้นเพื่อสานต่อพลังความร่วมมือ พร้อมประกาศขอบคุณ 711 ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partners) จากทุกองค์กรเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการในปีแรก จนสามารถจุดประกายสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัล ในโรงเรียนประชารัฐทั้ง 3,351 แห่งในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตอบโจทย์ตาม 10 ยุทธศาสตร์หลักของโครงสร้างในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางสานพลังประชารัฐ ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำให้นักเรียนได้เข้าถึงไอซีทีและสื่อมัลติมีเดียใน 39,829 ห้องเรียนอัจฉริยะ การพัฒนาคุณภาพคนโดยสร้างเด็กดีและเด็กเก่ง 749,349 คน ปั้นคุณครูมืออาชีพ 36,397 คน เสริมแกร่งผู้อำนวยการ 3,351 โรงเรียนประชารัฐ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านกลไกการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เหล่าผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงร่วมกับสถานศึกษาและชุมชนในแต่ละพื้นที่โรงเรียนประชารัฐ 3,351 ทั่วประเทศ ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน รวม 312,621,993 บาท พร้อมกำหนดตัวชี้วัดระดับสากลรองรับการประเมินและวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์โรงเรียนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างชัดเจน ตั้งเป้าขยายบทบาทความร่วมมือไปยังองค์กรเอกชนอื่นๆในปีต่อไป นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ กล่าวว่า การผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการคอนเน็กซ์-อีดี ในปีแรกนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของการร่วมมือเพื่อการศึกษาไทยอย่างแท้จริง ความทุ่มเท เสียสละ และพลังศรัทธาของเหล่าผู้นำรุ่นใหม่ทั้ง 711 คน จากทั้ง 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง ผนวกกับแรงสนับสนุนจากภาครัฐและภาคประชาสังคม นับเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้โครงการดังกล่าวขับเคลื่อนไปได้ทั้ง 3,351 โรงเรียนในขั้นต้นอย่างราบรื่น ซึ่งภาคเอกชน ต้องขอขอบคุณความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนอย่างสูง พร้อมขอยืนยันเดินหน้าสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำต่อไป โดย 1 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์หลักของโครงสร้างการขับเคลื่อนประเทศ ตามแนวทางสานพลังประชารัฐ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ : ยกระดับให้นักเรียน ได้เข้าถึงชุดอุปกรณ์ไอซีทีและสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเชื่อมโยงองค์ความรู้จากทั่วทุกมุมโลกสู่ 39,829 ห้องเรียนอัจฉริยะได้อย่างทัดเทียมกับโรงเรียนในเมืองใหญ่ อีกทั้งส่งเสริมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นเด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centric) พัฒนาคุณภาพคน : สร้างเด็กดีและเด็กเก่ง 749,349 คน ควบคู่กับการปั้นคุณครูมืออาชีพ 36,397 และส่งเสริมศักยภาพผู้อำนวยการโรงเรียน 3,351 คน เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน : ดำเนินงานตามแผนพัฒนาโรงเรียนอย่างมีลำดับขั้นตอน เป็นระบบ เสริมแกร่งทั้งทักษะวิชาการและวิชาชีพ โดยภาคเอกชน ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 312,621,993 บาท สำหรับแนวทางการดำเนินการของโครงการ CONNEXT ED ต่อจากนี้ จะยังคงให้ความสำคัญต่อเนื่องเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการศึกษา เพื่อเชื่อมโยงกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งจากส่วนกลางและระดับในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ (Engagement) ผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Learning Center) ในโรงเรียนประชารัฐ เพื่อส่งเสริมและดึงศักยภาพของทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน สู่การค้นคว้าองค์ความรู้ พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนรู้ร่วมกัน รวมทั้งจะเพิ่มการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารและครูสำหรับการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 (High Quality Principals & Teachers) เพื่อให้ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและครู สามารถออกแบบการสอนหรือการส่งเสริมและพัฒนาเด็กได้สอดคล้องกับการสร้างเด็กไทยในอนาคตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ในก้าวต่อไป จะมีการจัดทำ School Grading โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ Poor -Fair-Good-Great-Excellent พร้อมจัดทำตัวชี้วัดมาตรฐานโรงเรียนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และยกระดับมาตรฐานโรงเรียนนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดกลไกการแข่งขันในการยกระดับและพัฒนาตนเองโดยอัตโนมัติ และที่สำคัญโครงการ CONNEXT ED ยังจะเดินหน้าขยายบบาทความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพิ่มเติม ทั้งองค์กรเอกชนอื่นๆ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้นำรุ่นใหม่ (School Partners) ที่จะลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงในโรงเรียนประชารัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะกระบวนการซึ่งกันและกัน เพื่อให้ครอบคลุมครบทุกโรงเรียนในที่สุด ผู้สนใจข้อมูลโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pracharathschool.go.th