"ธีระเกียรติ" ชี้กรณีครูอุ้มผาง เป็นตัวอย่างขาดการบูรณาการ ต้องแก้ไขปัญหาทีละเปลาะ จากปัญหาการบริหารงานบุคคลในรูปแบบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในกรณีการบรรจุครู 2คน เป็นข้าราชการของโรงเรียนอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก นั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษา ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาไปทีละอย่าง คงไม่ไปแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เพราะการมี กศจ. เป็นเจตนาที่ดี และศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ก็ทำงานดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ตามคำสั่งของ คสช.ฉบับที่ 19/2560 เดิมระบุให้มีศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 18 ภาค แต่นายกรัฐมนตรี ต้องการให้เหลือ 6 ภาค เพื่อให้สอดรับกับภูมิประเทศ แต่ขณะนี้กลับเป็นไปว่าคนที่ได้เป็นศึกษาธิการภาค ไปนั่งไม่กี่เดือนแล้วขอย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการ โดยให้เหตุผลว่าไม่ค่อยมีงานทำ จึงทำให้ตำแหน่ง ศธภ.ระดับ 10 ว่างลง และคนที่เป็น รอง ศธภ. ก็อยากขึ้นมาระดับ 10 อัตโนมัติ "ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เคยเตือนเหมือนกันว่า การย้ายของ ศธภ.จะเปิดช่องว่างให้คนขึ้นระดับ10 โดยการเลื่อนไหลตำแหน่งขึ้นมาอัตโนมัติ ก็จะกลายเป็นความไม่เป็นธรรมาภิบาล สร้างความไม่เป็นธรรม เพราะคนที่ย้ายมาเป็น รอง ศธภ. ทำงานไม่กี่เดือน ผมจึงสั่งชะลอ และให้รักษาราชการไปก่อน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับบางคนก็ได้ เพราะเจตนาของผม อยากให้ปฎิบัติหน้าที่ไปก่อนเพื่อให้มีประสบการณ์ เข้าใจงานของตัวเอง เพราะการโตทางราชการแบบสายด่วนเร็วเกินไป ทำให้ไม่มีประสบการณ์และความไม่เป็นธรรม อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น และขณะนี้มีผู้ตรวจราชการ ไปรักษาการ ศธภ.แล้ว และอนาคตอาจจะทบทวนด้วยว่า ศธภ.มีความจำเป็นแค่ไหน" รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า สำหรับประเด็นการแก้ไขมาตรา 53 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 นั้น ได้สอบถามไปยังทีมกฎหมาย ของสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่าให้หารือในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ได้ ซึ่งเรื่องตนได้มอบหมายให้ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ เป็นผู้กำกับดูแลว่าจะนัดประชุมกันเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม การเสนอแต่งตั้งโยกย้ายก็มาจากเขตพื้นที่การศึกษาอยู่แล้ว กศจ.แค่มาแทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ที่ถูกยุบไป ส่วนกระบวนการพิจารณาทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม คือเสนอจากล่างขึ้นมาบน ตามลำดับ "กรณีครูทั้ง 2 คนเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเจตนาการมี กศจ. ก็เพื่อให้มีการบูรณาการร่วมกันกับเขตพื้นที่ฯ แต่ถ้าบูรณาการกันไม่ได้ ก็ควรจะพิจารณาว่าควรมีต่อไปหรือไม่ หรือว่าเป็นเฉพาะเขตพื้นที่ฯ นี้ที่เดียว แต่ถ้าเป็นเหมือนกันหมดก็แสดงว่า กศจ.ที่มีอยู่บูรณาการกันไม่ได้ หรือแบ่งงานกันไม่ถูก หลายเรื่องที่ต้องมาวิเคราะห์กันซึ่งที่จริงแล้ว กศจ.ควรมีอำนาจการดูแลกำกับ วางแผนบูรณาการ ฝ่ายปฏิบัติคือเขตพื้นที่ฯ เรื่องนี้ก็ค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องไปแก้ไขทีละเปลาะ ต้องนำมาหารือกันในคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ"รมว.ศึกษาธิการ กล่าว