อาชีวะนำร่อง 6 วิทยาลัย ผลิตกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมการบิน นายวณิชย์ อ่วมศรี ที่ปรึกษาบริหารโครงการประจำสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สอศ.เร่งดำเนินการเรื่องหลักสูตรช่างอากาศยาน โดยให้ดำเนินการควบคู่ไปกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นั้น สอศ.ได้ร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยาน ผู้แทนสถานประกอบการ ได้แก่ บริษัทการบินต่างๆ รวมถึงกองทัพอากาศ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรที่ได้มาตรฐานสากล
ซึ่งขณะนี้ร่างหลักสูตรได้ดำเนินการพัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ใช้เวลาเรียน 2 ปี กับ 1 ภาคฤดูร้อน เริ่มนำร่องในภาคเรียนที่ 2/2560 ในวิทยาลัยสังกัด สอศ. 6 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค(วท.) ถลาง จ.ภูเก็ต, วท.สัตหีบ จ.ชลบุรี, วท. ดอนเมือง กรุงเทพฯ, วท.อุบลราชธานี วท.สมุทรปราการ และวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น นอกจากนี้ ม.นครพนม ได้ประสานขอใช้หลักสูตรนี้ด้วย
นายวณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้วิชาชีพด้านอุตสาหกรรมการบิน กำลังเป็นที่สนใจ และเป็นความต้องการของตลาด และมีวิทยาลัยสังกัด สอศ.ประมาณ 30-40 แห่งเสนอตัวขอเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา(อ.กรอ.อศ.) สาขาอุตสาหกรรมการบิน เพื่อพิจารณาหลักสูตรที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ สำหรับทิศทางที่ สอศ.จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การผลักดันให้เกิดหลักสูตรอุตสาหกรรมการบิน 5 ปี เป็นหลักสูตร ปวช.3 ปี และปวส. 2 ปี และในอนาคตจะมีสาขาที่หลากหลายมากขึ้น