ชมรมพยาบาลโรคระบบประสาทแห่งประเทศไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดการประชุมวิชาการ “การพยาบาลผู้ป่วยโรคระบบประสาทในยุค 4.0” (Neuro Nurse in Thailand 4.0) และบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบาย Thailand 4.0 กับโรคระบบประสาท” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคระบบประสาทได้อย่างถูกต้อง มีคุณภาพ มีความตระหนักในการ พัฒนางานด้านการพยาบาลผู้ป่วยโรคระบบประสาทในยุค 4.0 ตลอดจนสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ด้านระบบประสาท ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า โรคระบบประสาทเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยอยู่ที่ประมาณอันดับ 3-4 โดยในอนาคตยังไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ได้ ซึ่งแม้ว่าภาระโรคระบบประสาทอาจไม่รุนแรงเท่าอุบัติเหตุทางการจราจรหรือโรคมะเร็ง แต่ภาระจากการดูแลจะรุนแรงกว่า เช่น ภาระติดบ้าน ติดเตียง เป็นต้น ซึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จะมีผู้ป่วยทางด้านระบบประสาทมากขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ ในการพัฒนาการพยาบาลผู้ป่วยโรคระบบประสาท 4.0 นั้นจะต่างจากเดิมใน 2 มุมคือ เรื่องของนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะมีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มมากขึ้น และสนับสนุนนโยบายนายกรัฐมนตรีที่ย้ำเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการเข้าถึง การดูแลด้านสุขภาพ โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น ใช้เทเลเมดีซีน ถ่ายทอดความรู้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพื่อหารือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งในพื้นที่และในส่วนกลางอย่างสถาบันประสาทวิทยา เป็นต้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า มีหลายโรคที่ต้องให้ความสำคัญโดยมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางระบบประสาท อาทิ เส้นเลือดแตก เส้นเลือดตีบ อาการชัก นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือเรื่องโรคสมองเสื่อม ซึ่งในโรคนี้เราได้พยายามระดมพยาบาลทั่วประเทศมาฟื้นฟูความรู้ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมาช่วยในการดูแลรักษาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรคเพื่อให้คนไทยรอบรู้เรื่องสุขภาพ สำคัญที่สุดคือการดูแลตัวเอง เป็นหมอคนแรกของตัวเอง โดยยึดหลัก 3 อ. คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ดี และมีอารมณ์ดี ซึ่งหากทำได้จะช่วยลดผู้ป่วยโรคระบบประสาท และในอนาคตที่คิดว่าจะเพิ่ม ก็อาจไม่เพิ่มขึ้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพยาบาลต้องมีความรอบรู้ ก้าวทันเทคโนโลยี รู้จักใช้สื่อโซเชียลในการแชร์ข้อมูล ให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันในเรื่องต่างๆ รวมไปถึงการเรียนรู้ว่าจะมีการปรับตัวอย่างไรในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ หากมีข้อผิดพลาดอย่าโทษกัน เพราะจะเป็นการทำลายระบบ นอกจากนี้ พยาบาลเองก็ต้องมีการดูแลตัวเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ทำจิตใจให้โปร่งใส อย่าทำงานเยอะจนเกินไป เพราะหากมีความเครียดจะไม่สามารถทำงานเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนได้