อาจารย์ มรภ.สงขลา ดึงจุดเด่นทางอัตลักษณ์ชุมชน ทำวิจัย "โนราจิตภาพคลองแดน"ออกแบบท่ารำเฉพาะพื้นที่ ถ่ายทอดท่ารำให้นักเรียน รร.ราชประชานุเคราะห์ 11 แสดงตลาดริมน้ำ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน อ.ทัศนียา คัญทะชา ประธานโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงผลงานวิจัยออกแบบการแสดงโนรา ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดริมน้ำคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งชุมชนวิถีพุทธคลองแดน มีต้นทุนทางวัฒนธรรมคือ "โนรา" จึงนำประวัติชุมชน ลักษณะทางกายภาพของตลาด วิถีชีวิต ความเชื่อ การแสดงพื้นบ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในชุมชน มาประพันธ์บทร้องโนรา บอกเล่าเรื่องราวของชุมชน งานวิจัยได้วิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว พบว่าส่วนใหญ่นิยมถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย ตนจึงนำมาเป็นข้อมูลประกอบการสร้างสรรค์ท่ารำโนรา ที่ประกอบกันเป็นภาพ ได้แก่ ภาพลำคลอง ภาพเมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช ภาพเรือ ภาพร้านค้า ภาพสะพานไม้ เป็นต้น โดยใช้ชื่อการแสดงว่า "โนราจิตภาพคลองแดน" จากนั้น ถ่ายทอดให้กับนักแสดงในชุมชน ซึ่งเป็นนักเรียนประถมศึกษา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 11 เพื่อแสดงในตลาดริมน้ำคลองแดน ทุกวันเสาร์ เวลา 18.00น. ...โนราจิตภาพคลองแดน จึงเป็นทั้งสื่อบันเทิงที่ใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยว และบทร้องโนรา ยังเป็นสื่อที่แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะของชุมชนคลองแดน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนชนบทอย่างยั่งยืน "การทำวิจัยมีนักศึกษานาฏยรังสรรค์ ปี 2-4 ที่ลงเรียนวิชาโนราตัวอ่อน ในตอนนั้นเป็นต้นแบบ แล้วนำไปให้ ผศ.สาโรช นาคะวิโรจน์ อดีตโนราวิทยาลัยครูสงขลา ตรวจบทร้องและท่ารำ จนเมื่องานวิจัยเรื่องนี้แล้วเสร็จ ก็ได้ถ่ายทอดให้กับนักเรียนซึ่งเป็นนักแสดงของชุมชน ทุกครั้งที่เด็กๆ ออกแสดงชาวชุมชนมีความชื่นชอบมากๆ และรู้สึกดีใจที่มีโนราที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน" อ.ทัศนียา กล่าวและว่า งานวิจัยนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2550 โดยเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยของ ดร.จเร สุวรรณชาติ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย ชักชวนไปทำโครงการวิจัยชุด การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงรุกเพื่อฟื้นฟูชุมชนในชนบท ซึ่งตนรับผิดชอบโครงการย่อยที่ 3 อนุรักษ์สืบสานและเผยแพร่ศิลปะการแสดงโนราในชุมชนคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา โดยมี ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการย่อยที่ 3 ได้รับทุนเครือข่ายการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผลจากงานวิจัยชุดนั้นได้สร้างนักแสดงโนราในชุมชนคลองแดน เพื่อแสดงในตลาดริมน้ำคลองแดน จนกระทั่งปี 2558 นายอภิชาติ เหมือนทอง รองประธานชุมชนคลองแดน ได้ประสานมาว่าเด็กรุ่นเก่าเรียนจบกันหมดแล้ว ต้องออกไปเรียนในตัวเมือง อยากให้กลับไปช่วยเรื่องโนราอีกครั้ง ตนจึงขอทุนจากมหาวิทยาลัยเพื่อทำวิจัยให้กับคลองแดน เริ่มทำมาตั้งแต่ไม่เป็นตลาด จนเป็นตลาดริมน้ำที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเช่นทุกวันนี้ -------------------