วารินทร์ พรหมคุณ ศธ.เดินเครื่อง77โรงเรียนนิติบุคคล จับมือเอกชนร่วมจัดการศึกษา เริ่มปีการศึกษา2561 เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้เสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาถึงรูปแบบโรงเรียนของรัฐในอนาคต ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา ในรูปแบบโรงเรียนนิติบุคคล หรือ Public School โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้อธิบายขยายความถึงโรงเรียนนิติบุคคล หรือ Public School เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันว่า โรงเรียนที่จะนำร่องรูปแบบการบริหารจัดการแบบนิติบุคคล เบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีปัญหาในการจัดการศึกษา หรือโรงเรียนด้อยโอกาสก่อน โดยภาคเอกชน จะเป็นผู้คัดเลือกโรงเรียน ที่จะเข้าไปสนับสนุน ก่อนเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. เป็นประธาน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นเลขานุการ ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้เชื่อมโยงกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ต่อไป ทั้งนี้ การให้อิสระโรงเรียนบริหารจัดการร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบนิติบุคคล จะได้ผลก็ต่อเมื่อเราบริหารบุคคลได้จริงๆ ให้ครูเก่งๆ มีโอกาสเข้ามาสอน มีระบบค่าตอบแทนที่ดี มีระบบการบริหารงานที่ดี ซึ่งต้องปลดล็อคหลายจุด เช่น ระบบการบริหารงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ต้องปรับแก้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบบ ระเบียบการบริหารงาน ต้องปรับแก้ระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาดขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยจะเริ่มทันทีในปีการศึกษา 2561 นำร่องจังหวัดละ 1 โรงเรียน ...โรงเรียนนิติบุคคล หรือ Public School นี้ ถือว่าเป็นไปตามรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ให้รัฐส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการจัดการศึกษา ตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชน จัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่กำกับและส่งเสริมสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเสริมว่า จากผลการจัดอันดับของ World Economic Forum 2017 จำนวน 137 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 32 แต่คุณภาพการศึกษาระดับประถมศึกษา อยู่อันดับที่ 89 และมีอัตราการเข้าเรียนในระบบประถม อยู่อันดับที่ 100 ขณะที่ผลคะแนน การประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA 2015 ยังมีค่าเฉลี่ยที่ต่ำ วิทยาศาสตร์ 421 คะแนน จากค่าเฉลี่ยกลาง 493 คะแนน ด้านการอ่าน 409 คะแนน จากค่าเฉลี่ยกลาง 493 คะแนน และด้านคณิตศาสตร์ 415 คะแนน จากค่าเฉลี่ยกลาง 490 คะแนน ดังนั้น จึงต้องยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมีโรงเรียนในรูปแบบที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมปรับปรุงพัฒนา หรือบริหารโรงเรียนอย่างจริงจัง สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคตโรงเรียนจะแบ่งเป็นโรงเรียนที่รัฐมีบทบาท 100% จำนวน 30,717 แห่ง โรงเรียนที่เอกชนมีบทบาท 100% โรงเรียนสามัญ จำนวน 3,845 แห่ง สถาบันอาชีวศึกษา 457แห่ง โรงเรียนที่เอกชนเป็นหุ้นส่วนสนับสนุน โดยนำโมเดลต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ หรือโรงเรียนประชารัฐ 3,351 แห่ง โรงเรียนเอกชนการกุศล ...และรูปแบบที่จะเกิดขึ้นใหม่คือโรงเรียนนิติบุคคล หรือ Public School ที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาบริหาร โดยที่รัฐยังคงเป็นเจ้าของ และมีการประเมินเป็นระยะ ปลดล็อคกฎระเบียบที่เกี่ยวกับงบประมาณ การบริหารงานบุคคลให้มีความคล่องตัว ซึ่งโรงเรียนนิติบุคคลนี้จะต้องมีความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก โดยจะเริ่มนำร่องจังหวัดละ 1 แห่ง รวม 77 แห่งทั่วประเทศ ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้เริ่มดำเนินการทันที ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ดังนั้น จากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ศธ. จะต้องดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อรองรับการดำเนินการ รวมทั้งออกแบบระบบรองรับการบริหารงานบุคคล การจัดสรรงบประมาณ หลักสูตร การประเมินผลสัมฤทธิ์ การประกันคุณภาพและการบริหารทรัพย์สิน ...สำหรับภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโรงเรียนนิติบุคคล มีแนวทางจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินสามารถนำไปลดหย่อนภาษี 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2561 ให้มีระยะเวลาเพิ่มขึ้น จากนี้ไปคือการร่วมมือของทุกฝ่าย ที่จะช่วยกันยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างพลเมืองยุคใหม่ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ///////////////////