จากกรณีที่มีสื่อโซเชียลลงข่าว “ตูน บอดี้สแลม” หวิดโดนระเบิด ฝีมือจากโจรใต้นั้น โดยมีการณ์จับเหตุการมาเชื่อมโยงกันจนทำให้ประชาชนสับสนโดยเนื้อหาระบุว่า “กลับมาอัพเดทสถานการณ์ของ ตูน บอดี้สแลม กับแอดมิน....กันอีกครั้งเชื่อว่าเป็นเรื่องราวที่หลายคนฟังแล้วต้องตกใจอย่างแน่นอน เพราะขนาดแอดมินเองยังตกใจเลยจ้า กับเหตุการณ์ขณะที่ตูนกำลังวิ่งและสถานที่ ที่ตูนพึ่งจะวิ่งผ่านไปเมื่อไม่นานก็เกิดระเบิดขึ้น ที่เกิดจากโจรใต้รอบวางระเบิด ที่พื้นที่ ม.6 บ.ดาแลแป ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา นั่นเอง เรียกได้ว่ารอดอย่างหวุดหวิด บุญกุศลที่ทำมาช่วยไว้จริงๆ เอาเป็นว่าเราไปชมภาพเหตุการเกิดระเบิดกันเลยจ้า ว่าเป็นอย่างไรบ้าง" หลังจากนั้นได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นตำหนิกันอย่างมากมายว่าเป็นการลงข่าวบิดเบือนไม่เหมาะสม เอาภาพข่าวคนละที่มาทำเป็นเรื่องเดียวกันซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เหตุการณ์ระเบิดนั้นเกิดเมื่อวันที่ 12 พ.ย.60 ร.ต.ท.ภัทรพล อภิรักษ์พงศา รอง สว.(สอบสวน) สภ.บันนังสตา จ.ยะลา รับแจ้งเหตุมีคนร้าย ลอบวางระเบิด เจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.3310 ขณะออกลาดตระเวนในพื้นที่ ม.6 บ.ดาแลแป ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทว่าวันดังกล่าว “ตูน บอดี้สแลม” ใช้เส้นทางคนละเส้นทางกันโดยใช้เส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช โดยเส้นทางวิ่งวันนั้นเริ่มจากทางเข้าที่ว่าการอำเภอเฉลิมพระเกียรติ -ปั้ม ปตท.สนองผล-วัดพังสิงห์-วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร-ค่ายวชิราวุธ และสิ้นสุดที่ป้อมยามบ้านหน้าทับ จากการให้สัมภาษณ์ ของ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ ให้ความเห็นว่า จากข่าวที่ปรากฏนั้นเป็นข่าวจากเพจที่เรียกว่า คลิ๊กเบท (Clickbait) จุดประสงค์หลักๆ ของเพจจำพวกนี้อาจมีการนำเสนอข่าวทั้งที่จริง และเท็จ โดยเน้นข่าวที่กำลังเป็นกระแส เป็นปรากฏการณ์ มีผู้คนใหความสนใจประเด็นนั้นๆ มาเสนอ และพาดหัวข่าวให้คนรู้สึกอยากรู้ และคลิ๊กเข้าอ่าน จุดประสงค์เพียงเพื่อนำยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์ ไปขายโฆษณา เพื่อให้เพจ หรือเว็บนั้นๆ อยู่ได้ เมื่อถามถึงการป้องกันไม่ให้ข่าวที่ถูกนั่งเทียน หรือเต้าขึ้นมา เพื่อเรียกเรตติ้งนั้น นายธาม เผยว่า จริงๆ ง่ายนิดเดียว กับการยับยั้งข่าวไม่ให้กระจายออกไปเป็นวงกว้าง เพียงแค่ลูกเพจ สมาชิกเพจ หรือผู้ที่พบเห็น กดรายงานบนแพลตฟอร์มนั้นๆ อาทิ เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ หากเห็นว่าข่าวนั้นเป็นข่าวที่ไม่เป็นความจริง ก็จะช่วยทำให้สังคมข่าวบนโลกโซเชียล มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และมีเนื้อหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ ในทางเดียวกัน ผู้ที่ถูกแอบอ้าง หรือได้รับผลกระทบจากการเขียนข่าว สร้างข่าว เช่นเหตุการณ์นี้ จริงๆ แล้วสามารถฟ้องร้อง หรือแจ้งความได้ เพราะเป็นความผิดในเรื่องของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ด้วย เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ควรที่จะเลือกเสพข่าวออนไลน์แบบลวงๆ เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง มีความเข้าใจ และนำไปสู่การแชร์ข้อมูลข่าวสารผ่านสังคมออนไลน์อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว จากการแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้น