ติดตามเด็กตกหล่น5จังหวัดใต้ คืนสู่ระบบการศึกษามากที่สุด นายชลำ อรรถธรรม รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เปิดเผยว่า พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บูรณาการดูแลจัดการศึกษาให้แก่เด็ก ที่อยู่ในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ซึ่งจากการนำข้อมูลนักเรียนโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อายุตั้งแต่ 3-18 ปี ไปตรวจสอบกับข้อมูลประชากรในกลุ่มอายุเดียวกันของกระทรวงมหาดไทย พบว่ามีประชากรวัยเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 1.2 แสนคน โดยปัญหาที่พบมีทั้งไปเรียนต่างประเทศ กำลังเรียนอยู่แต่โรงเรียนไม่ส่งข้อมูล เด็กพิการ ไม่มีตัวตนในพื้นที่ ไม่ยอมไปโรงเรียนเฉย ๆ และกรณีเด็กออกกลางคัน ซึ่งคณะทำงานได้จัดทำข้อมูลเด็กกลุ่มนี้เป็นรายบุคคล และแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นประธาน และมี ผอ.ส่วนราชการทางการศึกษาทุกส่วน ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ รวมถึงมีคณะกรรมการระดับอำเภอ และระดับตำบล เพื่อลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเด็กเป็นรายคน "ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงพื้นที่ ซึ่งเมื่อพบเด็กแล้ว จะต้องหาเจ้าภาพรับผิดชอบ เช่น กลุ่มเด็กพิการ ต้องเป็นหน้าที่ของศูนย์การศึกษาพิเศษดูแล กลุ่มเด็กปกติ สพฐ. และ กศน. ต้องดูแลจัดหาที่เรียนให้ ส่วนกรณีไปเรียนต่างประเทศ ก็ต้องระบุด้วยว่าไปเรียนที่ไหน หรือหากติดตามพ่อแม่ย้ายถิ่นฐานนอกพื้นที่ ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องเซ็นรับรอง เป็นต้น" นายชลำ กล่าวและว่า ในวันที่ 15 พ.ย.60 จะมีการประชุมคณะทำงานเพื่อสรุปข้อมูลเบื้องต้น ว่าช่วยเหลือดูแลเด็กไปแล้วอย่างไร จำนวนเท่าไหร่ โดยจะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้ครบทั้ง 1.2 แสนคน ภายในภาคเรียนนี้ เมื่อเปิดเทอมปีการศึกษา 2561 เด็กทุกคนจะต้องกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือให้มากที่สุด ตามหลักการว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว