รัฐบาลไทยจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 หน่วยงานภาครัฐขานรับนโยบายดังกล่าวด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี อย่างต่อเนื่อง สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และปฎิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุขสู่เป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข และระบบสุขภาพยั่งยืน” กรมการแพทย์ มีภารกิจหลักในการพัฒนาวิชาการด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ฝ่ายกาย ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีของกรมการแพทย์ ว่า กรมการแพทย์จัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ตามวิสัยทัศน์ “ประชาชนสุขภาพดีได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาคการแพทย์ไทย เป็น 1 ใน 3 ของเอเซีย” โดยนำกรอบแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” มากำหนดทิศทางการทำงาน มุ่งพัฒนายกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุม เหมาะสม มีคุณภาพและมาตรฐานสากล ยึดถือค่านิยม “MOPH DMS” เป็นแนวทางปฎิบัติให้ทุกภาคส่วนขององค์กร มุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกันนี้กรมการแพทย์ยังได้กำหนด3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบริการและวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ 2.พัฒนาแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพให้มีความเชี่ยวชาญและพอเพียงกับความต้องการของประเทศ3.พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนให้เกิดความเป็นเลิศ ปัจจุบันการแพทย์ของประเทศได้รับการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างน้อย 15 ด้าน ตามที่กฎกระทรวงกำหนด ได้แก่ 1.โสต ศอ นาสิก 2.กระดูกและข้อ 3.เด็ก 4.หัวใจและหลอดเลือด 5.หลอดเลือดสมอง และระบบประสาท 6.อาชีวเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม 7.มะเร็ง 8.จักษุ 9.การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติด 10.พระภิกษุและสามเณร 11.การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในกลุ่มคนพิการ 12.ผิวหนัง 13.ทันตกรรม 14.พญาธิวิทยา 15.เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ทั้ง 15 ด้านดังกล่าวกรมการแพทย์มีส่วนเกี่ยวข้องทุกด้าน ส่วนแผนระยะ 5 ปี กรมการแพทย์วางเป้าหมายไว้ว่าการรักษาพยาบาลที่จะดูแลประชาชนจะต้องมีคุณภาพและมาตรฐานแบบเสมอภาค โดยเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก ฉะนั้นแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2561 อธิบดีกรมการแพทย์ ได้วางแนวทางในการขับเคลือนโรงพยาบาลดิจิทัล หรือ Smart Hospital ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระบบการให้บริการสุขภาพ เช่นการนำระบบไอที เข้ามาใช้ในการจัดระบบคิวให้กับคนไข้ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลราชวิถี เริ่มดำเนินการแล้ว ด้วยการนำระบบไอทีมาจัดระบบคิวผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับคนไข้ และจะเริ่มนำระบบไอทีมาใช้กับโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ทุกแห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายจะเริ่มดำเนินการในเขตสุขภาพ 12+1 (กทม.) เขต เริ่มจากหนึ่งโรงพยาบาลศูนย์ หนึ่งโรงพยาบาลทั่วไป และหนึ่งโรงพยาบาลชุมชน คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในเดือนกันยายน พ.ศ. 2561และเตรียมขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นต่อไป “เรื่องดังกล่าวต้องทำไปปรับไป อาจต้องใช้เวลา แต่ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ ถ้านำไอทีเข้ามาเสริมต้องมีระบบข้อมูลที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ เช่น บัตรประจำตัวคนไข้ หรือบัตรประชาชน จะต้องมีข้อมูลทางด้านสุขภาพที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นผลเลือด ความดัน ฯลฯ นี่คือคอนเช็ปต์ Digital Hospital” อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว จากนโยบายดังกล่าวกรมการแพทย์ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งจะมาสนับสนุนเรื่องของพื้นฐานระบบซอฟท์แวร์ หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) การนำข้อมูลของผู้สูงอายุเข้ามาในระบบสาธารณสุข รวมถึงสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ที่จะมาดูระบบสาธารณสุขเพื่อคนพิการ เพื่อให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์กรมการแพทย์ ระยะ5 ปี ภายในปี พ.ศ. 2564 ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค และระยะ 20 ปี ภายในปี 2597 ประชาชนสุขภาพดี ได้รับบริการทางกาแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค การแพทย์ไทย 1 ใน 3 ของเอเซีย “การขับเคลื่อนนโยบาย Digital Hospital ไม่เพียงแต่ลดความแออัดในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนเจ็บป่วยน้อยลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมอคนแรกก็คือตัวเราเอง ฉะนั้นการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด นอกจากจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอีกด้วย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวสรุป