"บุญรักษ์" เผยผลสืบข้อเท็จจริงกระบวนการบรรจุ 2 ครูอุ้มผางไม่ถูกต้องตามกระบวนการ เพราะไม่ผ่านมติ กศจ. เร่งตั้ง กก.สอบสวนข้อเท็จอดีต ผอ.สพม.เขต 38 ขณะที่ 2 ครูยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลกแล้ว ยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องกับกรณี น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี และ น.ส.วนาลี ทุนมาก อดีตครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม หลังไปปฏิบัติหน้าที่การสอนตามคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 38 เป็นเวลา 5 เดือนโดยไม่ได้รับเงิน และต่อมาคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)ตาก มีมติไม่อนุมัติการบรรจุแต่งตั้ง และล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้ สพฐ.ไปดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นายมรกต กลัดสอาด อดีต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 20 อุดรธานี ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผอ.สพม.38 ในช่วงเวลาดังกล่าว วันที่ 15 พ.ย.60 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ไปดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นายมรกต กลัดสอาด อดีตผอ.สพม.เขต 38 และเสนอมาโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง ที่สพฐ.ตั้งขึ้นได้ลงไปตรวจสอบกระบวนการการบรรจุแต่งตั้ง ได้สรุปรายงานมายังตนแล้ว เหลือเพียงรอหลักฐานประกอบเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ไปตรวจสอบเพิ่มเติมกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องผลประโยชน์ "เบื้องต้นผลการสืบสวนพบว่า กระบวนการบรรจุแต่งตั้งไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะทำข้ามขั้นตอน คือไม่ได้รับมติ กศจ.ตาก ส่วนจะมีเหตุผล หรือความจำเป็นอื่นหรือไม่ ก็ต้องรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งโดยอำนาจของผม เป็นผู้วินิจฉัยว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ขอรอดูสำนวนทั้งหมดก่อนจึงจะวินิจฉัยได้ เพราะหากพูดไปก่อนจะเป็นการชี้นำ และแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม" เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า ทั้งนี้ แม้จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายนายมรกต ออกนอกพื้นที่ เพราะปัจจุบันนายมรกต เป็นผอ.สพม.เขต 20 ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคในการดำเนินการสอบสวน ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตกรณีการออกบัตรประจำตัวราชการให้แก่ครูทั้ง 2 คนนั้น ถือเป็นการบริการปกติ เป็นการเตรียมพร้อมเอกสารทางราชการ และเป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ในของเขตพื้นที่ฯ ว่าทั้ง 2 คน จะได้รับการบรรจุราชการ แต่ก็ต้องไปตรวจสอบด้วยว่าเขตพื้นที่ฯ ได้ปฏิบัติแบบนี้กับทุกคนหรือไม่ด้วย ซึ่งตนไม่ได้แก้ตัวแทน อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่าครูทั้ง 2 คน ได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกด้วย และคาดว่าศาลจะมีการนัดไต่สวนช่วงปลายเดือน พ.ย.60 นี้ โดยกำลังรอหนังสือเรียกอย่างเป็นทางการ ด้าน น.ส.วนาลี ทุนมาก กล่าวว่า พวกตนไปยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลก ก่อนที่จะออกมาร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชน ซึ่งที่ตัดสินใจไปยื่นเพราะขณะนั้นรู้สึกว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ประสานไปยังหน่วยงานใดก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองฯ ขณะที่ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า การที่ครูไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ถือเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพราะแต่ละหน่วยงานก็ต่างก็ทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นในส่วนของ ก.ค.ศ.ก็จะพิจารณาไปตามข้อมูล หลักฐานที่มี ซึ่งหากได้ข้อสรุป หรือมีมติเช่นไร ก็จะส่งให้กับศาลปกครองพิษณุโลก ต่อไป