"จาตุรนต์"แนะจัดเลือกตั้งท้องถิ่นหลังเลือกตั้งระดับชาติมีรบ.ใหม่ กันครหาใช้อำนาจแทรกแซง ต่อรองหวังผลประโยชน์ทางการเมือง วันที่ 16 พ.ย.นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คสช.จะมีการปลดล็อกจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติว่า ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว รัฐบาลระบุผู้สมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นก็ยังไม่จำเป็นต้องปลดล็อกพรรคการเมือง หรือรอไปเลือกตั้งใกล้ๆกันแล้วค่อยปลดล็อกพรรคการเมือง ฟังดูยังเป็นการอธิบายที่สับสน รวมถึงแม้ว่าผู้สมัครององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้าม และผู้สมัครจำนวนไม่น้อยที่มักจะแสดงตนสังกัดพรรคการเมือง และพรรคการเมืองบางพรรคยินดีที่จะประกาศสนับสนุนผู้สมัคร เพราะฉะนั้นจะเกิดความลักลั่นที่ผู้สมัครที่จะลงสมัครกทม.เป็นต้น แต่พรรคการเมืองไม่สามารถช่วยหาเสียงได้ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แต่ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เสียทีเดียว ยังมีปัญหาใหญ่กว่าคือ การจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งทั่วไป เพราะความจริงแล้วควรให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้ว แต่ก็ดึงเกมมาเรื่อย มาถึงตอนนี้บอกว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน จะทำให้มีปัญหาเกิดการใช้อำนาจ เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งที่เกิดจากอำนาจในคำสั่งหัวหน้าคสช.และประกาศคสช.ตามมาตรา 44 และอำนาจของกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเกิดการเลือกปฏิบัติ เลือกช่วยผู้สมัครท้องถิ่น และอาจเกิดการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต คืออาจจะมีการหวังที่จะใช้ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นเครื่องมือไปสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรคได้ "เพราะฉะนั้นแล้วจริงๆแล้ว ถ้าจะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงของคสช.และอำนาจจากกระทรวงต่างๆ ควรจะเลือกตั้งท้องถิ่นหลังการเลือกตั้งทั่วไป และหลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว พอถึงเวลานั้นคสช.จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไป ไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ และกกต.และหน่วยงานต่างๆ ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจของคสช.จะทำให้การเลือกตั้งมีแนวโน้มบริสุทธิ์ ยุติธรรมมากกว่า"นายจาตุรนต์ กล่าว ทั้งนี้แต่ถ้าหากว่าคสช.และรัฐบาลนี้ มีความตั้งใจใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจริงๆ หลังจากการเลือกตั้งท้องถิ่น มาเป็นฐานทางการเมือง อาจจะสมประโยชน์ได้เพียงบางส่วน เพราะประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศ ก็มีวัฒนธรรมในการแยกแยะระหว่างผู้บริหารท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการเมืองระดับประเทศ ที่ไม่เอามาปะปนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะมีแผนใช้องค์กรท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ จะไม่ประสบความสำเร็จเท่ามากที่ตั้งใจ แต่ปัญหาก็คือเราอาจได้ผู้นำผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากเสียงประชาชนจริงๆ แต่มาจากการแทรกแซง การเลือกปฏิบัติจากผู้มีอำนาจ เมื่อถามว่า มองว่าการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แตกต่างกันหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า มีความแตกต่างกันแน่นอน เพราะเดิมทีเข้าใจว่าการเลือกตั้งต่างๆกกต.ต้องเป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็เป็นห่วงคือ กกต.จะไปใช้กลไกเจ้าหน้าที่ของรัฐ แบบไม่เอาประชาชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมเข้าไปถ่วงดุล แต่ถ้ากระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง จะย่ิงเป็นการถอยหลังชัดเจนมากขึ้น เพราถ้าให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลย เท่ากับว่ามีระบบก่อนกกต.ซึ่งเท่ากับถอยหลังไปมาก การแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองจากผู้มีอำนาจจะมีสูงขึ้น