ผอ.พอช.ชี้แจงกรณี ‘ศรีสุวรรณ’ ร้อง บก.ปปป. โครงการบ้านมั่นคงขัดคำสั่ง คสช. และสร้างบ้านไม่ผ่านความเห็นชอบของ สผ. ยืนยันทำรายงานมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมส่ง สผ.ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 และผ่านความเห็นชอบตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว ชี้โครงการบ้านมั่นคงทำตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขชุมชนบุกรุกริมคลองและเพื่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ของ กทม. ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยในฐานะที่ปรึกษาชาวชุมชนริมคลอง นำชาวบ้านเข้าร้องเรียนต่อกองบังคับการการป้องกันและปรามปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) กล่าวหาว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว 15 ชุมชน โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ซึ่งเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และขัดต่อคำสั่งของคสช.ที่9/2560 ซึ่งระบุว่า ให้ดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว โดยได้รับยกเว้นการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาตราที่ 48 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอย่างน้อยต้องมีมาตรการเคลื่อนย้ายชุมชนและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ สผ. ให้ความเห็นชอบนั้น นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองลาดพร้าว เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ รวมทั้งเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ โดยรัฐบาลมอบหมายให้ กทม.สร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวระยะทางรวมประมาณ 45 กิโลเมตร และให้ พอช.จัดหาที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำคูคลองในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ โดยขยับบ้านเรือนให้พ้นจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ และสร้างบ้านใหม่ โดยกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของที่ดินจะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย “โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเป็นโครงการที่ พอช. ได้รับการเห็นชอบจาก ครม.ให้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 และมีเป้าหมายเสร็จสิ้นภายในปี 2562 ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ มีจำนวนชุมชนที่รุกล้ำลำคลองทั้งหมด 52 ชุมชน รวม 7,081 ครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมา พอช.ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานขึ้นมาเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อน เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 13 ชุมชน ก่อสร้างบ้านเสร็จไปแล้ว 915 ครัวเรือน” นายสมชาติกล่าว ส่วนการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ สผ.นั้น นายสมชาติกล่าวว่า พอช.ได้จัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และส่งไปยัง สผ.ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นทาง สผ.ได้ให้ความเห็นและแจ้งผลการพิจารณาเพื่อให้ พอช.แก้ไขเป็นระยะหลายรอบ จนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณามีมติให้ความเห็นชอบมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อของ พอช. โดยส่งเป็นหนังสือแจ้งมาถึง พอช. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา รวมทั้ง สผ.เองได้มีการส่งหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อรับทราบและแจ้งไปยังสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติตามต่อไป ทั้งนี้ในหนังสือของ สผ. ระบุว่า ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เจ้าของโครงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้อย่างเคร่งครัด และเมื่อเริ่มดำเนินโครงการแล้ว จะต้องเสนอรายงานผลการปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าว ให้แก่ สผ.พิจารณาปีละ 2 ครั้ง สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ พอช. เสนอต่อ สผ.และได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะก่อนการก่อสร้าง เช่น ทำความเข้าใจกับชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ ฯลฯ ระยะเคลื่อนย้ายชุมชน เช่น แบ่งการก่อสร้างออกเป็นเฟส การสร้างบ้านชั่วคราวหรือที่พักชั่วคราวสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ต้องรื้อบ้านระหว่างการก่อสร้าง ฯลฯ ระยะก่อสร้าง เช่น จัดทำรั้วหรือกำแพงล้อมรอบบริเวณที่ก่อสร้าง ป้องกันผลกระทบจากเสียง คุณภาพอากาศ ฯลฯ และระยะดำเนินการ เช่น จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อดักไขมัน การกำจัดขยะ ฯลฯ “โดยหลักของมาตรการดังกล่าวนี้ คือรัฐบาล และ พอช. รวมทั้ง สผ.ต่างก็ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง พอช.ในฐานะที่เป็นหน่วยปฏิบัติงานก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. รวมทั้งทำรายงานตามมาตรการของ สผ.จนผ่านความเห็นชอบแล้ว ส่วนประชาชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงก็จะได้มีที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนจากผู้บุกรุก เป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครก็สามารถสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้” นายสมชาติกล่าวในตอนท้าย โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ มีจำนวนชุมชนที่รุกล้ำลำคลองทั้งหมด 52 ชุมชน รวม 7,081 ครัวเรือน ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 13 ชุมชน ก่อสร้างบ้านเสร็จไปแล้ว 915 ครัวเรือน ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดย พอช.สนับสนุนงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้แก่ชาวบ้านครัวเรือนละ 50,000 บาท งบอุดหนนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 25,000 บาท งบแบ่งเบาผู้ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 72,000 บาท นอกจากนี้ยังสนับสนุนสินเชื่อครัวเรือนละ 360,000 บาท ผ่อนชำระคืนภายใน 20 ปี ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำของ กทม.โดยบริษัทริเวอร์เอนจิเนียริ่ง จำกัด ที่ประมูลงานได้ ขณะนี้ตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างพนังเขื่อนไปแล้วประมาณ 15,000 ต้น จากเสาเข็มทั้งหมด 60,000 ต้น มีแผนงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2562 รวมระยะทางทั้งหมด (ทั้งสองฝั่ง) ประมาณ 45 กิโลเมตร