เตรียมจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลคึกคัก มอแกนออกหาปลา-ผักต้อนรับแขก ชาวมันนิ-ชนเผ่าร่วม “หมออำพล”แนะรัฐจริงจังสร้างเขตคุ้มครองวัฒนธรรม กรธ.แนะช่องใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 น.ส.อรวรรณ หาญทะเล ชาวเลชุมชนทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน เปิดเผยว่า ขณะนี้การเตรียมการต่างๆเป็นไปอย่างคึกคัก โดยชาวเลได้ร่วมกันออกเรือหาปลาและหาผักเพื่อนำมาเลี้ยงแขกที่จะเดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ โดยกิจกรรมที่จะจัดขึ้นมีหลากหลาย โดยเริ่มตั้งแต่เช้าวันที่ 18 ซึ่งจะมีกิจกรรม “มอแกนพาเที่ยว” เนื่องจากพื้นที่ทับตะวันมีความงดงามในหลายๆด้าน ดังนั้นชาวบ้านจึงจะพาไปเที่ยวชมจุดต่างๆที่สำรวจไว้ 23 จุด แต่เนื่องจากระยะเวลาจำกัด จึงอาจได้ไปเพียงบางจุด เช่น ศาลพ่อตาสามพันซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิของชุมชน บ้านยายนิดซึ่งในอดีตเมื่อ 150 ปีก่อนเคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวของชาวมอแกน หรือ “หัวกัง”และ “ขุมเขียว” ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน แต่มักถูกขับไล่อยู่เสมอ น.ส.อรวรรณ กล่าวว่า ในช่วงเย็นของวันที่ 18 จะมีการแสดงต่างๆ ทั้งร็องแง็ง มวยกายหยง ซึ่งเป็นศิลปะของชาวเล ขณะเดียวกันจะมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทั้งชาวมันนิ จากจังหวัดพัทลุง และพี่น้องชนเผ่าจากภาคเหนือมาร่วมงานด้วย โดยจะมีการเปิดงานเป็นทางการในวันที่ 19 ช่วงเช้า และมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ด้านน.พ.อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฎิรูปประเทศ ด้านสังคม กล่าวว่าเคยมีการศึกษาเรื่องชาวเลทั้งในสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.)และสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.)และจัดทำเป็นข้อเสนอไปยังรัฐบาล เพราะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้เนื่องจากเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่เป็นความมั่นคงในแนวใหม่ คือความมั่นคงของมนุษย์ และทราบว่าได้มีการนำข้อเสนอส่งไปยังสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่โดยสรุปแล้วคือต้องการให้เกิดเขตคุ้มครองวัฒนธรรมชาวเล ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 เคยมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้ว แต่ถูกผลักดันให้เป็นรูปธรรมอย่างเบาบางมาก ขณะที่ชาวเลกำลังเผชิญสถานการณ์หนักหน่วง น.พ.อำพล กล่าวว่าการสร้างเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมนั้น จำเป็นต้องมีวิธีปฎิบัติในหลายเรื่อง ทั้งด้านที่ทำกิน ด้านการศึกษา ด้านที่ดิน และด้านวัฒนธรรม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ได้เป็นเจ้าภาพพยายามทำในหลายเรื่อง แต่ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับและหลายหน่วยงาน จึงทำให้ในทางปฎิบัติยังไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกินซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างกรณีของชาวเลในชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต ซึ่งมักมีข่าวว่าชนะคดีความ แต่ข้อเท็จจริงแล้วเพียงแต่ศาลยกฟ้องคดีที่เอกชนฟ้องร้องชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ชนะหรือได้อะไร เพียงแต่ไม่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ที่สำคัญคือได้มีการตรวจสอบกรณีที่ดินบริเวณชายกหาดราไวย์ ทั้งจากกรมสอบสวนพิเศษหรือดีเอสไอ และจากคณะกรรมการที่สำนักนายกฯ แต่งตั้งขึ้น ซึ่งมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน ซึ่งต่างก็ชี้ชัดว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ แต่กรมที่ดินไม่กล้าที่จะเพิกถอน เพราะกลัวหยิบเล็บเจ็บเนื้อ เนื่องจากอาจถูกเจ้าของเอกสารสิทธิ์ฟ้องร้องเอาได้เพราะเป็นคนออกโฉนด “รัฐบาลควรนำเรื่องนี้มาพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาที่ถูกจับตามองจากนานาชาติเนื่องจากเป็นปัญหาของชาวบ้านชายขอบที่ถูกละเมิด รัฐบาลต้องกำชับหน่วยงานต่างๆ ให้ทำหน้าที่ รวมทั้งมีกลไกเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินผืนใดที่ออกโดยไม่ถูกต้อง” น.พ.อำพล กล่าว น.พ.อำพลกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นในชุมชนราไวย์ นอกจากทางออกโดยวิธีการด้านนิติศาสตร์แล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ อย่างกรณีของประเทศอังกฤษ เมื่อชาวประมงเกิดปัญหากับโครงการที่มาใหม่ เขาใช้วิธีตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยการระดมทุนมาช่วยเหลือชาวบ้าน และสร้างแหล่งรายได้ ซึ่งกรณีชุมชนราไวย์ หากมีการระดมทุนมาซื้อที่ดิน และบริหารพื้นที่ให้เป็นแหล่งรายได้ของชุมชน ก็จะเป็นอีกทางออกหนึ่งที่งดงาม นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงรัฐธรรมนูญ 2560 กับสิทธิของชาวเลในอันดามันว่า ในมาตรา 70 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ระบุว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือสุขภาพอนามัย” ซึ่งถือว่าเป็นหลักการใหญ่และไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศก็ต้องพึงปฏิบัติ แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 ว่าด้วยการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลอยู่แล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยรับรองให้มติครม.ดังกล่าวหนักแน่นขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตราอื่นๆ ที่กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่ออกมารองรับบุคคลและชุมชน เช่น มาตรา 38 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ ขณะที่มาตรา 40 ระบุว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และมาตรา 41 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของรัฐ ตลอดจนสามารถเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวมเร็ว รวมทั้งฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ นายภัทระกล่าวว่า ที่น่าสนใจมากคือในมาตรา 43 ซึ่งระบุว่าบุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิ 1. อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ 2.จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ 3.เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชุมชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีที่กฎหมายบัญญัติ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึงมาตรา 57 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐต้อง 1.อนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของท้องถิ่นและของชาติ 2.อนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการและใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว และในมาตรา 58 ระบุว่าการเนินการใดของรัฐหรือรัฐจะอนุญาตให้ผู้ดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา “กรณีของชาวเล พวกเขาเป็นคนไทย มีสิทธิเสรีภาพเหมือนประชาชนทั่วไปในประเทศนี้ หากเขาถูกละเมิดสิทธิ ในมาตรา 213 ระบุว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ให้ประชาชนร้องได้เองโดยไม่ต้องผ่านองค์กรอิสระ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่เบื้องต้นชาวเลต้องรู้ก่อนว่า รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิอะไรบ้าง หากเขาต้องการดูแลชุมชน ก็ควรเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งที่ยั่งยืน มากกว่าการจะไปหวังพึ่งรัฐซึ่งเป็นคนนอก ที่สำคัญคือต้องทดลองใช้รัฐธรรมนูญนี้ดูก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าจะช่วยพลิกโฉมหลายสิ่งหลายอย่างให้ดีขึ้น”นายภัทระ กล่าว