“ชวน” เปิดกิจกรรม เสวนาวรรณกรรมและนิทรรศการศิลปะ “การผลิบานไม่รู้จบ” โรงเรียนสภาราชินีตรัง เตือนสถานศึกษาพ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียน ลูกหลาน อนุรักษ์ภาษาถิ่นใต้ ก่อนจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ภาษาถิ่น ขณะที่วงเสวนาเชิญ ศิลปินแห่งชาติ และกวีซีไรต์ร่วมเพียบ เมื่อเวลา 10.00น.วันที่ 18 พฤศจิกายน ที่โรงเรียนสภาราชินี อ.เมือง จ.ตรัง จัดให้มีกิจกรรม เสวนาวรรณกรรมและนิทรรศการศิลปะ “การผลิบานไม่รู้จบ” ในโอกาสครบรอบ 81 ปี โรงเรียนสภาราชินี โดยเรียนเชิญ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมี นายสุรศักดิ์ ยี่หลัก ผู้อำนวยการโรงเรียนสภาราชินีตรัง ดร.วัชรินทร์ โตขาว รองผู้อำนวยการโรงเรียนสภาราชินี คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน นายชวน กล่าวว่า เมื่อถึงการจัดกิจกรรมในวันนี้ โชคดีที่มีเพชรน้ำงามทางด้านวรรณศิลป์ในระดับชาติที่เราภาคภูมิใจ ชาวตรังก็ภาคภูมิใจ ซึ่งมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศและเป็นเกียรติภูมิชื่อเสียงของประเทศ ที่เยาวชน นักเรียนได้มีโอกาสสัมผัส เพราะบุคคลเหล่านี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจ แรงจูงใจให้เกิดขึ้นได้ ตนเองเล่นการเมืองก็มาจากเหตุจูงใจเช่นกัน โดยมี มรว.เสนีย์ ปราโมทย์ อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นแบบอย่าง มีโอกาสเข้ารับฟังการประชุมสภาฯทำให้เกิดความสนใจในการเล่นการเมือง ดังนั้น เด็กนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมในวันนี้ก็ควรถือโอกาสด้วย “ผมเองไม่ได้อยู่ในฐานะหรือมีความสามารถทางด้านวรรณศิลป์ หรือวรรณกรรม หรือด้านนิพนธ์ใดๆที่จะมาบังอาจออกความคิดความเห็น แต่ผมเป็นนักบันทึก นักย่อความ ได้รับรางวัลมาโดยตลอด ที่สำคัญที่สุดก็คือตำราเรียงความ ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษา เมื่อจบออกไปจึงรู้ว่า วิชาย่อความ วิชาเรียงความมีความสำคัญทั้งสิ้น และมีความจำเป็น โดยเฉพาะภาษาถิ่น ที่ควรมีการอนุรักษ์ไว้ ที่ผ่านมาโรงเรียนบางแห่งไม่ให้เด็กนักเรียนพูดใต้ มิหนำซ้ำพ่อพ่อบางรายพูดแต่ภาษาใต้ เแต่กับลูกพูดภาษากลาง ทำให้นึกไม่ออกว่าเป็นคนภาคไหน กลางก็ไม่ใช่ ใต้ก็ไม่ชัด ไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง จึงขอฝากภาษาถิ่นไว้กับโรงเรียน เพราะว่าหากไม่รักษาไว้ ต่อไปจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของเรา” นายชวน กล่าว นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเสวนาวรรณกรรมและนิทรรศการศิลปะ “การผลิบานไม่รู้จบ” ของโรงเรียนสภาราชินีในวันนี้ดำเนินกิจกรรมในโอกาสที่โรงเรียนสภาราชินี ครบรอบ 81 ปี โรงเรียนตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งการอ่านออกขียนได้ จะมีปัญหากับนักเรียนในยุคปัจจุบัน ทางโรงเรียนจึงพยายามที่จะพิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ภายใต้ชื่อ “การผลิบานไม่รู้จบ” เพื่อแจกแก่นักเรียน อย่างน้อยๆนักเรียนจะได้ฝึกในการเรียน และได้เรียนรู้ในเรื่องของอักขระต่างๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องของการอ่าน เพราะฉะนั้นคนในศัตวรรษที่ 21 ในเรื่องของกระบวนการคิด มีความสำคัญทางโรงเรียนได้มีการบูรณาการเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ขึ้น ทั้งในเรื่องของศิลปะ บทกวี ที่ผ่านมาทางโรงเรียนมีการจัดกิจรรมเข้าค่ายสีสันบทกวีดนตรี เพื่อที่จะส่งเสริมให้นักเรียนได้อ่านในเรื่องของโครง ฉันท์ กราบ กลอน ขณะนี้จะเห็นว่ากวีซไรต์ หรือแม้แต่ศิลปินแห่งชาติหลายท่านเป็นศิษยเก่าโรงเรียนสภาราชินี และมาร่วมเสวนาในวันนี้ด้วย” นายสุรศักดิ์ กล่าว ดร.วัชรินทร์ โตขาว ในฐานะประธานจัดกิจกรรมเสวนาวรรณกรรมและนิทรรศการศิลปะ “การผลิบานไม่รู้จบ” กล่าวว่า ด้วยสภาพสังคมสื่อออนไลน์ทำให้คนไทยสนใจอ่านหนังสือน้อยลง และต่ำมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งที่หนังสือคือคลังความรู้ คลังสติปัญญา โดยเฉพาะวรรณกรรมคุณภาพ วรรณกรรมสร้างสรรค์ จะช่วยเปิดโลกทัศน์ และขยายความคิดของผู้อ่าน ในอันที่จะสร้างสังคมแห่งสติปัญญา ดังนั้นโรงเรียนจึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น โดยเชิญบุคคลต้นแบบด้านวรรณกรรม มาร่วมเสวนา อาทิ สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ และเครือข่ายทางวรรณกรรมที่เข้มแข็ง มาเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนการอ่าน การเขียน และการผลิตวรรณกรรมสร้างสรรค์ “สำหรับกิจกรรมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ปี 2532 ขจรฤทธิ์ รักษา จำลอง ฝั่งชลจิตร ประมวล มณีโรจน์ และวิสุทธิ์ ขาวเนียม พร้อมทั้งมีการจัดค่ายศิลปะให้กับนักเรียน กิจกรรมเข้าค่าย “สีสันบทกวี ดนตรีถ้อยคำ การฝึกให้นักเรียนอ่านบทกวี” ดร.วัชรินทร์ กล่าว โดยที่การจัดกิจกรรม เสวนาวรรณกรรมและนิทรรศการศิลปะ “การผลิบานไม่รู้จบ” เรียนเชิญศิลปินแห่งชาติ กวีซีไรต์ ร่วมวงเสวนา ประกอบด้วย สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2548 จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ปี 2532 ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์ ปี 2535 สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2548 ขจรฤทธิ์ รักษา จำลองฝั่งชลจิตร ประมวล มณีโรจน์ และ วิสุทธิ์ ขาวเนียม