หลายฝ่ายร่วมผลักดันยกระดับมติครม.เป็นกฎหมายคุ้มครองวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเลยื่น 7 ข้อเสนอภาครัฐ แนะก.ท่องเที่ยวปรับทิศ-หนุนชุมชนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ชุมชนชาวเลบ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ได้มีการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 8 โดยมีชาวมอแกน มอแกลนและอูรักลาโว้ยจากจังหวัดสตูล กระบี่ ภูเก็ต พังงาและระนอง ราว 500 คนรวมทั้งชาวบ้าน นักวิชาการและผู้ที่สนใจมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง นางสาวอรวรรณ หาญทะเล ตัวแทนชาวเลได้กล่าวรายงานถึงสถานการณ์ชาวเลโดยระบุว่า ปัจจุบันมีชุมชนชาวเลที่ยังไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย 40 แห่ง โดย 36 แห่ง คือ ชุมชนในที่ดินรัฐ ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีการขับไล่ แต่ยังไม่มีหลักประกันว่าเราจะอยู่ได้มั่นคงชั่วลูกหลาน ที่ดินที่มีเอกชนอ้างสิทธิ์เหนือชุมชนชาวเล 5 แห่ง มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวเลกว่า 127 คดี และมีแนวโน้มจะมากขึ้น นางสาวอรวรรณ กล่าวต่อว่าพวกเรามีสุสาน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับทำพิธีกรรม รวม 23 แห่ง ไม่มีเอกสารขึ้นทะเบียน 20 แห่ง มีเอกสารแล้ว 3 แห่ง มีที่ถูกรุกล้ำด้วยวิธีการต่างๆ 13 แห่ง บางแห่งมีการออกเอกสารสิทธิ์ทับสุสาน บางแห่งมีการห้ามเข้าไปฝังศพ บางแห่งมีคนมาบุกรุก เช่น สุสานแหลมทุ่งยุง สุสานบอแน ที่เกาะลันตา สุสานที่เกาะพีพี สุสานทุ่งหว้า สุสานเกาะเปลว พังงา สุสานที่หลีเป๊ะ สตูล สุสานที่เกาะสิเหร่ ภูเก็ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกจากสุสานแล้ว ชาวเลยังคงมีปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย เช่น การทำมาหากินในทะเลแต่เดิมชาวบ้านหากินได้ แต่หลังจากที่มีการประกาศเขตอุทยาน ประกาศเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้พวกตนหากินยากลำบากขึ้น ต้องออกทะเลไกล ต้องดำน้ำลึกขึ้น มีหลายคนต้องพิการเป็นอัมพฤกษ์เพราะน้ำหนีบ ซึ่งในปัจจุบันมีความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ปัญหาของ “อนุกรรมการชุดพื้นที่ทำกินทางทะเลของชาวเล” ที่มีมติร่วมกันในเรื่องการผ่อนปรนการทำมาหากินทางทะเลของชาวเล นางสาวอรวรรณ กล่าวอีกว่าในส่วนของชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน ประมาณ 550 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดระนองประมาณ 320 คน และเกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ประมาณ 211 คน ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ทั้งการไปหาหมอ การหางานทำ การเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก “ขอเรียกร้อง ให้หน่วยงาน องค์กร บุคคลที่เกี่ยวข้อง ยุติการละเมิดสิทธิของชุมชนชาวเล ยุติการคุกคามข่มขู่ชาวเล สนับสนุนการแก้ปัญหาและพัฒนาพวกเราอย่างจริงจังต่อเนื่อง ให้เกิดผลจริงๆ และพวกเราชาวเล ก็จะพยายามหาแนวทางพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมกับทุกๆองค์กร ดังรูปธรรมการสนับสนุนการลงนามความร่วมมือในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนชาวเล เพื่อให้เกิดเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชุมชนชาวเล จังหวัดพังงาในงานรวมญาติชาวเลครั้งที่ 8 นี้”นางสาวอรวรรณ กล่าว ทั้งนี้ภายหลังจากการเปิดงาน ผู้แทนชาวเลจากพื้นที่ต่างๆได้ร่วมกันยื่นหนังสือกับผู้แทนภาครัฐ โดยในหนังสือมีข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2553 2.เร่งรัดแก้ปัญหาที่ดินชุมชนชาวเล ตามข้อเสนอของคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชุมชนชาวเล ซึ่งมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน 3.เสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯมีการทำแผนแม่บทการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ 5 ปี (2561 - 2565 ) และจัดตั้งกองกิจการชาติพันธุ์ขึ้นมาใหม่ 4.ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ เสนอกฎหมายเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม 5. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กันแนวเขตที่ดินที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และเขตหากินในทะเล ออกจากการประกาศเขตอนุรักษ์ทับพื้นที่ทซึ่งบรรพบุรุษของชาวเลได้อยู่อาศัย และทำกินมาก่อน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย 6. ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินนโยบายการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงผลกระทบ ต่อชุมชนชาวเล 7. ให้กระทรวงมหาดไทย เร่งแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล จำนวน 550 คน วันเดียวกันได้มีวงเสวนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ โดยนายนิรันดร์ หยังปาน ผู้แทนชาวเลจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กล่าวว่าชาวเลควรมีเขตในการทำประมงที่ชัดเจนโดยรัฐต้องออกประกาศโดยสิ่งที่เราคาดหวังที่สุดคือกฎหมายที่จะออกมาให้เรามีที่ทำกินหรือให้เราออกไปหาปลาในน่านน้ำได้เพราะตอนนี้เหมือนถูกตีกรอบอยู่ตลอดเวลา นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)กล่าวว่า มาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวยังไม่ได้มีการดำเนินการเลย เพราะมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ให้การคุ้มครองยังไปไม่ถึง และมติครม.นี้ควรยกระดับเป็นกฎหมายเพื่อให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมือง ซึ่งทราบว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยรังสิตกำลังร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษณ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์หลายฉบับ ทำให้หน่วยงานราชการไม่กล้าเข้ามาแก้ไข ทั้งๆที่หากไม่มีชาวเลก็ไม่มีการกำหนดเขตทางทะเลให้ประเทศไทยกว้างขวางเท่านี้ เช่นเดียวกับเขตแดนตะวันตกที่กะเหรี่ยงช่วยไทยรบกับพม่าจนทำให้แผ่นดินไทยมีอาณาเขตขนาดนี้ ดังนั้นฝ่ายปกครองควรร่วมกันแก้ไขเพื่อให้ประชาชนอยู่กันอย่างมั่นคง ซึ่งได้มีการทำรายงานตั้งแต่ปี 2558 ว่าเขตวัฒนธรรมพิเศษควรทำอย่างไร “อย่างกรณีที่ดินชุมชนราไวย์ชัดเจนว่าชาวเลอยู่มาก่อน ก็ควรเป็นพื้นที่ของเขา ท้องถิ่นและท้องที่ต้องจับมือกันช่วย เขตวัฒนธรรมพิเศษมีความจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เขารักษาวัฒนธรรมไว้ได้ ผมฝันว่าที่ดิน 19 ไร่ของราไวย์ควรเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย”พลเอกสุรินทร์ กล่าว นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนกล่าวว่าจะทำอย่างไรให้ชาวเลหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่นๆได้รับการยอมรับและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางกายภาพควรเกิดขึ้น ปัญหาของชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากการพัฒนาที่ไม่สมดุลซึ่งก็ต้องแก้ไขเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลได้พูดถึงการพัฒนาที่ยังยืน ควรมีการกำหนดชัดเจนว่าเขตคุ้มครองทางกายภาพควรเป็นอย่างไรโดยไม่ต้องรอกฎหมาย ในฐานะที่ชาวเลมีเครือข่ายกว่า 1 หมื่นคน ควรสร้างพื้นที่ให้เป็นรูปธรรมนำร่องไปก่อน นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่าเขตคุ้มครองพิเศษชาวเล ต้องทำทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวเล ดังนั้นจะทำกันแต่ในเอกสารไม่ได้ แต่ต้องผลักดันให้เป็นจริงเป็นจัง เช่น หากต้องการให้เกิดการคุ้มครองเรื่องที่ดินชาวเล ต่อไปก็ต้องห้ามนายทุนฟ้องขับไล่ชาวเล หรือการทำมาหากินตามชายหาดหรือในทะเลก็ต้องได้รับการคุ้มครอง นอกจากนี้ชาวเลควรมีส่วนร่วมในนโยบายการท่องเที่ยว เช่น เมื่องบประมาณลงในอันดามันก็ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวของชาวเลด้วย เพราะที่ผ่านมานโยบายการท่องเที่ยวนอกจากไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวเลแล้วยังทำให้เกิดเบียดขับชาวเลด้วย เช่น มีการแย่งชิงพื้นที่หน้าหาดและทรัพยากรของชาวเล เรามีชุมชนชาวเลอยู่กว่า 40 แห่งเอง หากกระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมฯ จับมือกันให้กว่า 40 ชุมชนนี้มีส่วนในเรื่องการท่องเที่ยวก็จะเป็นทางเลือกทำให้ชุมชนชาวเลมีทางออก “ชาวเลต้องลุกขึ้นมาสร้างเขตวัฒนธรรมด้วยตัวเอง ถ้าเราไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำ ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาทวง ก็ไม่มีใครทวง เพราะมติครม.มีตั้ง 6 แสนฉบับ เขาก็ทำลืมกันไปหมด”นางปรีดา กล่าว