บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิด “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างสมดุลอย่างไรให้ยั่งยืนในยุคไทยแลนด์ 4.0” คัดเลือกเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์จำนวน 70 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศรวม 429 คน เข้าค่ายเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุดเด่นของค่ายฯ นอกจากรูปแบบ “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” แล้ว ในปีนี้เน้นการเรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้สัมผัสประสบการณ์จริงผ่านกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ การดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตของคนในชุมชน ที่มุ่งพัฒนาเศรฐกิจและการประกอบอาชีพท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมเรียนรู้การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาสำรวจและระบุแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน เพื่อนำไปประยุกต์ต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนกับประเทศต่อไป อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เผยว่า ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องที่บ้านปูฯ เน้นย้ำและให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และค่ายเพาเวอร์กรีน เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Policy) และนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Policy) ของเรา
นอกจากนี้เราได้ต่อยอดนำองค์ความรู้มาสู่เยาวชน เพื่อให้พวกเขาได้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และนำความรู้ที่ได้รับไปเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมรักษาคุณค่าทางระบบนิเวศควบคู่กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า “พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา” ซอ ซอ - นภัสสร ปิ่นแก้ว หนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ตัวแทนทีมชนะเลิศ กล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับค่ายว่า ค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นค่ายที่แตกต่างจากค่ายทั่วไปเพราะมีการส่งเสริมให้เรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ให้นักเรียนที่เข้าร่วมได้มีโอกาสไปเรียนรู้และสัมผัสกับความหลากหลายทางชีวภาพ ตอนแรกคิดว่าหัวข้อค่ายในปีนี้จะยากและไกลตัว แต่จริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวควรให้ความสำคัญ และถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและอนุรักษ์ไว้เป็นหน้าที่ของเราทุกคนเพื่อความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต