“กรมอนามัย เร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูลของประเทศไทย พ.ศ. 2560 - 2569 ให้มีโถส้วมแบบนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ไว้บริการผู้สูงอายุและป้องกันโรคเข่าเสื่อมจากการใช้ส้วมแบบนั่งยองเป็นเวลานาน ส่งเสริมให้ผู้พิการและผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ เข้าถึงบริการส้วมสาธารณะเพิ่มมากขึ้น” กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์เส้นทางส้วม...ครบวงจร ส่งเสริมให้จัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล พร้อมเน้นย้ำพฤติกรรมการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง ตั้งเป้า 10 ปีข้างหน้า ทุกสถานที่มีส้วมห้อยขาหรือ ส้วมนั่งราบไว้ให้บริการผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 ที่ นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวรณรงค์วันส้วมโลก ณ สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันส้วมโลก เพื่อให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านสุขาภิบาล โดยหัวข้อหลักวันส้วมโลก ปี 2017 คือ “น้ำเสีย (Wastewater)” ซึ่งปีนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยร่วมรณรงค์ในหัวข้อหลักว่า “เส้นทางส้วม ครบวงจร” Where does our poo go? เพื่อสร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกสุขลักษณะ ตั้งแต่การใช้ส้วม การจัดให้มีที่เก็บกักสิ่งปฏิกูล การขนสิ่งปฏิกูลเพื่อนำไปกำจัด และการกำจัดอย่างถูกต้องและปลอดภัย ป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคลงสู่แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาสุขาภิบาลของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนมีและใช้ส้วมอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2503 ในรูปของโครงการพัฒนาอนามัยท้องถิ่น โดยมีจุดมุ่งหมายดำเนินการปรับปรุงการสุขาภิบาลหมู่บ้านในชนบท เพื่อลดอัตราป่วยและตายของประชาชนในชนบท อันมีสาเหตุเนื่องจากโรคระบบทางเดินอาหาร จากข้อมูลในปี 2553 ประเทศไทยมีส้วมครอบคลุมครัวเรือน ร้อยละ 99.8 ซึ่งยังไม่ครบ 100 เปอร์เซนต์ เนื่องจากการขาดแคลนส้วมใช้ในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ทุรกันดาร ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ประเทศไทยต้องก้าวผ่านและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) “จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ทำให้องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ ให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ศึกษาดูงานแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเป็นแบบอย่างความสำเร็จให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้ ได้ดำเนินการพัฒนาส้วมสาธารณะไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยการกำหนดแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยและมาตรฐานส้วมสาธารณะ (HAS) เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่สะอาด เพียงพอและปลอดภัย และลดการขับถ่ายในที่โล่ง โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หากไม่มีห้องส้วมใช้เฉพาะและมิดชิดเพียงพอ อาจเสี่ยงต่ออันตรายและถูกทารุณกรรมทางเพศได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และเป็นวาระการพัฒนาจากนี้ไปอีก 14 ปีข้างหน้า” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าว นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กรมอนามัยดำเนินการมาถึงแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 โดยขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในสถานที่ต่างๆ 12 ประเภท ซึ่งประชาชนใช้มากที่สุด คือ สถานที่ราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล ตลาดสด แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า สถานีขนส่งทางบก/ทางอากาศ และส้วมริมทาง ซึ่งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549-2559 มีส้วมสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS ในภาพรวม ร้อยละ 71.04 ควบคู่กับการส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการล้างมือหลังใช้ส้วมเพื่อลดการเจ็บป่วยจากการสัมผัสเชื้อโรคจากส้วม “ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้เร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูลของประเทศไทย พ.ศ. 2560 - 2569 ให้มีโถส้วมแบบนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ไว้บริการผู้สูงอายุ และป้องกันโรคเข่าเสื่อมจากการใช้ส้วมแบบ นั่งยองเป็นเวลานาน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้พิการและผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ เข้าถึงบริการส้วมสาธารณะเพิ่มมากขึ้น ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสิ่งปฏิกูล พ.ศ. .... รวมถึงผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล และนำสิ่งปฏิกูลที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว