ร้อนรุ่มเป็นทุนเดิมกันอยู่แล้ว ก็ยิ่งเพิ่มดีกรีร้อนเข้าไปใหญ่ สำหรับ “ตะวันออกกลาง” ภูมิภาคเชื่อมต่อ 3 ทวีป ระหว่างเอเชีย - ยุโรป และแอฟริกา กับสถานการณ์ชิงความเป็นใหญ่ของสองชาติมหาอำนาจในภูมิภาค อันได้แก่ “ซาอุดีอาระเบีย” กับ “อิหร่าน” จนบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ พร้อมกับเผชิญหน้าในลักษณะที่บรรดานักวิเคราะห์ เรียกว่า “สงครามเย็น” ในภูมิภาคแห่งนั้น กล่าวถึงพื้นฐานภูมิหลัง ก็ต้องถือว่า ทั้ง “ซาอุดีอาระเบีย” กับ “อิหร่าน” แตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง ไล่ไปตั้งภาษาที่ซาอุดีอาระเบีย ใช้ภาษาอารบิก จึงเรียกว่า เป็นพวกอาหรับ ส่วนอิหร่านใช้ภาษาเปอร์เชีย อันเป็นหนึ่งในกิ่งก้านสาขาของพวกอินโดอารยัน หรืออินโดยุโรเปียน แต่ที่นับว่า ทำให้ทั้งสองประเทศ ต้องร้องเพลง “ชาตินี้เราคงรักกันไม่ได้” คือ เป็นศัตรูตัวฉกาจไปโดยปริยาย ก็เห็นจะเป็น “การนับถือนิกายในศาสนาอิสลาม” ที่ทางฟาก “ซาอุดีอาระเบีย” นับถือนิกาย “ซุนหนี่” ส่วนจะถือเคร่งอย่างเข้มงวด แบบ “วะฮาบีย์” หรือคลายความเข้มลงแบบ “สายกลาง” ที่ทาง “กลุ่มชนชั้นนำใหม่ของทางการริยาด” เริ่มเทใจอยากจะปฏิรูปมาทางข้างนี้ ก็ค่อยว่ากันใหม่กันอีกที ขณะที่ ทางฝั่ง “อิหร่าน นับถือ “นิกายชีอะฮ์” ทั้งนี้ ในแต่ละประเทศของภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็มีประชานนับถือนิกายทั้งสอง คละเคล้า และมีสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ซึ่งนิกายไหนจะเป็นใหญ่ นอกเหนือจากจำนวนของศาสนิกชนแล้ว ก็ยังมีปัจจัยด้านผู้นำประเทศหรือผู้นำรัฐบาล ของแต่ละยุค แต่ละสมัย นับถือนิกายอะไรด้วย เช่น ในอิรัก สมัยอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนเรืองอำนาจ นิกายซุนหนี่ในอิรักก็ฉายแสงเรืองรอง ก่อนต้องตกเป็นรองเบี้ยล่าง หลังพ้นสมัยของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ที่ปรากฏว่า รัฐบาลผู้บริหารปกครองชุดใหม่ จวบจนถึงปัจจุบัน เป็นพวกที่นับถือนิการชีอะฮ์ ก็ส่งผลให้นิกายชีอะฮ์ผงาดขึ้นมาแทนที่ โดยเมื่อว่ากันถึงเงาทะมึนที่อยู่เบื้องหลังแล้ว บรรดานักวิเคราะห์ ก็ได้แสดงทรรศนะว่า มีสองชาติยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลาง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้ท้ายสนับสนุนแก่ศาสนิกชนเดียวกับตน เพื่อช่วงชิงอิทธิพลความเป็นใหญ่ในภูมิภาคแห่งนั้นด้วยกัน นั่นคือ ซาอุดีอาระบเย สนับสนุนพวกซุนหนี่ ขณะที่ อิหร่านส่งเสริมพวกชีอะฮ์ นั่นเอง ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมเป็นประการต่างๆ แม้กระทั่งตั้งกลุ่ม รวมก๊วน ขึ้นเป็น “ตัวแทน” ในการสัประยุทธ์ชิงชัย อย่างใน “อิรัก” หลังยุคซัดดัม ผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรี คือ นายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี เป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์ ซึ่งว่ากันว่า ทางการเตหะรานให้การสนับสนุน ซึ่งนอกอิหร่านสนับสนุนรัฐบาลแบกแดดแล้ว ก็ยังส่งเสริมกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ ผ่านทางเฮซบอลเลาะฮ์ ไปสู้ศึกกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ขบวนการก่อการร้ายที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพวกมุสลิมซุนหนี่ จนเป็นหนึ่งในสาเหตุให้ไอเอสในต้องพ่ายแพ้ พร้อมๆ กับการผงาดทางอิทธิพลของอิหร่านในทางการแบกแดดอีกต่างหากด้วย เช่นเดียวกับ ใน “ซีเรีย” ที่ทางการเตหะราน เข้าไปสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำรัฐบาลดามัสกัส ซึ่งเป็นชีอะฮ์ด้วยกัน แม้ว่าจะเป็นพวก “อะลาวิต” อันเป็นหนึ่งในกิ่งนิกายของชีอะฮ์ ในการทำศึกรุกรบทั้งกับ “ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล” หรือฝ่ายกบฏ กับกลุ่มไอเอส ในซีเรีย จนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นพวกนิกายซุนหนี่ ยังไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลของอัสซาดได้สำเร็จ หรือทางไอเอส ต้องเป็นฝ่ายปราชัย โดยล่าสุด ก็ต้องสูญเสียที่มั่นสุดท้ายในมืองเดียร์เอซซอร์ ก็ส่งผลอิทธิพลของอิหร่าน ผงาดขึ้นในซีเรียอีกหนึ่งพื้นที่ แต่ที่นับว่า เป็นการสัประยุทธ์ชิงอิทธิพลที่ดุเดือดเลือดพล่านที่สุดระหว่าง “ซาอุดีอาระเบีย” กับ “อิหร่าน” ก็เห็นจะเป็นการเผชิญหน้าในสมรภูมิ “สงครามกลางเมือง” ใน “เยเมน” ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็น “สวนหลังบ้าน” ของ “ซาอุดีอาระเบีย” ซึ่งปรากฏว่า กลุ่มกบฏฮูธี ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เพราะเป็น “ชีอะฮ์” ด้วยกัน สามารถโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะฮ์ ซาเลฮ์ ที่ทางการริยาด คือ ซาอุดีอาระเบียให้ความสนับสนุน ในฐานะมุสลิมซุนหนี่ ก็ส่งผลให้ไม่ผิดอะไรกับ “อิหร่าน” รุกประชิดถึง “สวนหลังบ้าน” ของ “ซาอุดีอาระเบีย” กันเลยทีเดียว และถือเป็น “ความเสี่ยงสูง” ต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงของ “ซาอุดีอาระเบีย” ที่ทางการริยาดก็เกิดหวั่นวิตก อย่างกรณีล่าสุด ที่เกิดเหตุกลุ่มกบฏฮูธีที่อิหร่านให้ความสนับสนุน ได้ยิงขีปนาวุธ ชนิด “บูร์คาน เอช2” เข้าใส่เป้าหมายเป็น “ท่าอากาศยานนานาชาติ “คิง คาหลิด” ชานกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย เพื่อตอบโต้ต่อซาอุฯ ทีส่งกำลังคนของตนเข้าไปรบกับพวกเขาในสงครามกลางเมืองเยเมน โชคดีที่กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ สามารถยิงสกัดขีปนาวุธดังกล่าวได้เสียก่อน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าว ก็สร้างความหวั่นๆ ว่า จะมีการตอบโต้กันอย่างรุนแรง กระทั่งอาจเพิ่มอุณหภูมิสงครามเย็นในตะวันออกกลาง กลายเป็นสงครามร้อนขึ้นมาได้ เมื่อทางการซาอุฯ ขู่ว่า จะพิจารณาถึงปฏิบัติการทางสงครามต่ออิหร่าน จากกรณีข้างต้นที่อิหร่านสนับสนุนเป็นประการต่างๆ ต่อกลุ่มกบฏฮูธี รวมถึงขีปนาวุธรุ่นที่ยิงใส่ซาอุฯ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ อุณหภูมิร้อนได้เพิ่มดีกรีระอุขึ้น ในเหตุการณ์นายกรัฐมนตรีของเลบานอน คือ “นายซาอัด ฮาริ รี” ประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกระทันหัน ในระหว่างที่เขาเดินทางไปยังกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุฯ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อความปลอดภัยในตัวเขาเองที่ทางฝ่ายอิหร่าน หมายปองจ้องฆ่าเอาถึงชีวิต ซึ่งเขาระบุว่า ทางการอิหร่าน พร้อมด้วยเฮซบอลเลาะฮ์ กลุ่มติดอาวุธของพวกเขา ได้แทรกซึมเข้ามาผ่านทางพันธมิตรนิกายชีอะฮ์ในเลบานอน จนทรงอิทธิพลอยู่ในเลบานอน และมีแผนลับที่จะสังหารเขา ทั้งนี้ นักการเมืองนิกายซุนหนี่รายนี้ ยังระบุด้วยว่า อิหร่านพยายามเป็นใหญ่ในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า เหตุการณ์ข้างต้น ได้เพิ่มอุณหภูมิตะวันออกกลางทวีตึงเครียดยิ่งขึ้น ซึ่งแม้แต่ทางที่ปรึกษาของอะยาตุลเลาะฮ์ อาลี คาห์มินี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน คือ นายฮุสเซน ชีค อัล-อิสลาม ก็มีความคิดเห็นเช่นเดียกันนี้ ทว่า ที่ปรึกษาของผู้นำสูงสุดอิหร่าน ก็ระบุด้วยว่า นี่เป็นแผนการของซาอุฯ โดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมาร และทางการสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พ่วงด้วยทางการอิสราเอล ที่ต้องการกล่าวหาอิหร่านว่า สร้างความหวาดกลัว และมุ่งทำลายล้างในหลายประเทศของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิเคราะห์ก็แสดงทรรศนะว่า ด้วยความหวั่นเกรงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะเพิ่มความขัดแย้งระหว่างซษอุฯ กับอิหร่าน ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลางโดยส่วนรวม ไม่นับที่เลบานอน ซึ่งจ่อเหววิกฤติทางการเมืองรอบใหม่อย่างยากจะหลีกเลี่ยงกับการที่นายกรัฐมนตรีลาออกอย่างปัจจุบันทันด่วนกันเยี่ยงนี้