ต้องถือเป็น “พื้นที่อ่อนไหว” ต้องให้ความใส่ใจจากบรรดาผู้นำประเทศทั้งหลายมากเป็นพิเศษ สำหรับ “ทะเลจีนใต้” น่านน้ำฟากตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่พลิกขึ้นมาเป็น “กระดานหมาก” แห่งใหม่ให้เหล่าชาติใหญ่น้อย ต่างพากันตบเท้าเข้ามาประชันช่วงชิงอิทธิพล รวมไปถึงกรรมสิทธิ์ครอบครอง ตามรายชื่อของประเทศที่อ้างสิทธิ์ถือครอง ก็มีจีนแผ่นดินใหญ่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม แต่ที่เป็นชาติปรปักษ์ใหญ่ๆ ได้แก่ จีนแผ่นดินใหญ่ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพราะมึนตึงเผชิญหน้ากันทางทหาร ไปจนถึงฟ้องร้องศาลสถิตย์ยุติธรรมระหว่างประเทศ ก่อนที่จะมีประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากรายชื่อข้างต้น ได้เพิ่มขึ้นเข้ามาภายหลัง เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และอังกฤษ ที่เริ่มเล็งแลมายังน่านน้ำเจ้าปัญหาแห่งนี้ด้วยเหมือนกัน โดยที่เข้ามาภายหลังนี้ แม้ไม่ได้พื้นที่ให้อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง แต่ก็เป็นไปในลักษณะหวังประชันทางอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา ที่เดิมเคยทรงอิทธิพลในน่านน้ำแห่งนี้มาก่อน ในฐานะชาติผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนอิทธิพลลดทอนไป ตามนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ เองที่เปลี่ยนแปลง กอปรกับการหวนกลับมาในปรากฏการณ์ “มังกรผงาดฟ้า” ของจีนแผ่นดินใหญ่ จนอิทธิพลของพญามังกรจีน บดบังพญาอินทรีสหรัฐฯ ขึ้นมาแทนที่ เช่นเดียวกับ พญาหมีขาวรัสเซีย ที่เคยมีอิทธิพลและบทบาทในบางประเทศที่ปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของภูมิภาคอุษาคเนย์แห่งนี้ ก็ถูกบดบังรัศมีจากพญามังกรจีนเช่นกัน ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และการทหาร ดาหน้าระดมมายังภูมิภาคแห่งนี้ ด้วยสภาพการณ์เงินถุง เงินถึง ของพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกัน ทางด้านพญาอินทรีสหรัฐฯ ก็ได้พยายามตอบโต้ด้วยมาตรการต่างๆ อย่างการส่งกองเรือมาลาดตระเวนเพ่นพ่าน เป็นอาทิ ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ก็ได้เสนอตัว ขอเป็น “โซ่ข้อกลาง” คือ ตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แบบขออาสากันเลยทีเดียว โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เสนอตัวขออาสากับประธานาธิบดีเจิ่น ดั่ยกวาง ของเวียดนาม ที่กรุงฮานอย ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเข้าร่วมประชุมสุดยอดเขตความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย – แปซิฟิก หรือเอเปก ที่นครดานัง ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวกับประธานาธิบดีเวียดนาม ชาติที่ได้ชื่อว่า เป็นคู่ปรปักษ์หลักของจีนแผ่นดินใหญ่ จากกรณีพิพาทข้างต้น โดยระบุว่า ตนพร้อมเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย และตัดสินข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ให้แก่ทุกฝ่าย ที่กำลังมีปัญหาอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองในพื้นที่พิพาทที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังย้ำด้วยว่า หากจะให้ช่วยก็บอกมา และยังคุยโวด้วยว่า ตนเป็นคนกลาง และเป็นผู้ตัดสินที่ดีมาก พลันสิ้นกระแสเสียงขอเป็นอาสาโซ่ข้อกลางของประธานาธิบดีทรัมป์ข้างต้น ก็สร้างเป็นงงปนความกังขาให้แก่เหล่าบรรดาผู้ฟังกันถ้วนหน้า ด้วยความฉงนถึงบทบาทที่ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งได้ชื่อว่า ฝีปากกล้าไม่เกรงใจใคร จะมาเป็น “กาวใจ” ว่า จะทำได้หล่ะหรือ? อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์อีกฟากฝั่ง ก็แสดงทรรศนะเห็นต่างว่า อย่าเพิ่งดูแคลนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ฝีปากกล้ารายนี้จนเกินไป เพราะถ้าไม่แน่จริง นายทรัมป์ ก็ไม่สามารถเจรจาตกลงความทำธุรกิจจนกลายเป็นมหาเศรษฐีกันได้หรอก ทว่า แม้ประธานาธิบดีทรัมป์เอ่ยเอื้อนขออาสาเป็นโซ่ข้อกลางดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน ทางการวอชิงตัน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็เดินตาหมาก เปิดฉากเกมรุก ด้วยการเตรียมยกระดับความร่วมมือทางการทหารกับเวียดนาม ซึ่งเคยเป็นชาติคู่ปรปักษ์ ไม้เบื่อไม้เมาจากสงครามเวียดนามเมื่อหลายทศวรรษก่อนด้วย โดยทางประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เจรจากับประธานาธิบดีเจิ่น ถึงความส่งเสริมความร่วมมือทางการทหารกับเวียดนาม ชนิดเอาระดับ “น.ย. คอหนัง” คือ “นาวิกโยธิน” หน่วยรบที่มากด้วยขีดความสามารถ มาร่วมไม้ร่วมมือแบบทวิภาคีกับเวียดนามกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังให้ส่งเสริมความร่วมมือกับเวียดนามในเรื่องการเดินเรือเสรีในเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้อีกต่างหากด้วย แบบสร้างความมั่นใจให้แก่คู่สนทนา ซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ว่า เวียดนาม ไม่ได้ท่องลำน้ำย่านทะเลเจ้าปัญหา แบบโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน และมิใช่กับเวียดนามเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามที่จะเปิดน่านน้ำพิพาทแห่งนี้ ให้เป็นช่องทางการเดินเรือเสรีแก่นานาชาติอีกต่างหาด้วย เรียกว่า รื้อระบบจีนแผ่นดินใหญ่ มิให้ผูกขาดการเดินเรือในน่านน้ำนี้แต่เพียงผู้เดียว