วันนี้ (21 พ.ย.60) นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้ชี้แจง กรณีข่าวที่ "นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน ระบุ คนไร้บ้านยังมีข้อจำกัดเรื่องสิทธิ์ต่างๆ จากรัฐบาล ไม่ว่าจะที่อยู่อาศัย หรือด้านสุขภาพ และต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อกลุ่มคนไร้บ้าน โดยสะท้อนความคิดเห็นจากคนไร้บ้านผ่านเวทีเสวนา Greeting For The Homeless : เพื่อสิทธิ์ เพื่อชีวิต คนไร้บ้านที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ปัญหาอย่างหลากหลาย"ว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) เป็นหน่วยงานรัฐในการจัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยกลุ่มผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ตาม พรบ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 ซึ่งมีกระบวนการพัฒนาสถานะทางทะเบียนในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านที่พักอาศัย มีหน่วยงานให้บริการคนไร้ที่พึ่ง ได้แก่ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ครอบคลุม 77 จังหวัด โดยมิเลือกปฏิบัติ 2.ด้านการสืบหาข้อมูลทางการทะเบียนจะดำเนินการตรวจสอบสถานะบุคคล หากพบว่าอาจเป็นบุคคลสัญชาติไทย จะสืบค้นเอกสาร ติดตามพยานบุคคลรับรองเพื่อคืนสิทธิความเป็นคนไทย ทั้งนี้หากไม่พบข้อมูลใดๆ จะประสานกรมการปกครอง จัดทำประวัติทะเบียนผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อให้ได้สิทธิในด้านต่างๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชน 3.ด้านการให้คำปรึกษาแนะนำสิทธิสวัสดิการ บริการในภารกิจ และประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการในเรื่องสถานะทางทะเบียนให้แก่คนไร้ที่พึ่ง ร่วมกับภาคีเครือข่าย จำนวน 141 คน และอยู่ระหว่างดำเนินการ 936 คน นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า สำหรับการดูแลกลุ่มเป้าหมาย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการดำเนินการ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ได้ให้เงินอุดหนุน 327,160 ราย และจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2,005 ราย รวมถึงการประสานขอยกเว้นค่ารักษาพยาบาลในกรณีไม่มีบัตรประชาชน และดำเนินการสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายภายใต้ “ โครงการตำบลต้นแบบห่วงใยไม่ทอดทิ้งกัน” เพื่อให้การช่วยเหลือเชิงรุกต่อไป 2.จัดทำ MOU ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล สำหรับใช้เป็นหลักฐานประกอบการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนรายบุคคล ติดตามหาญาติ และวางแผนการคุ้มครอง รวมทั้งประสานผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สปสช. หารือแนวทางการให้สิทธิสุขภาพกับคนไร้ที่พึ่งที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และ3.การพัฒนาศักยภาพ โดยส่งเสริมการประกอบอาชีพและมีรายได้ ซึ่งสามารถทำงานในสถานประกอบการแล้ว 60 คน ทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับ 216 คน พัฒนากลุ่มเป้าหมายในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งภายใต้โครงการธัญบุรีโมเดล 800 คน โดยใช้กลไกประชารัฐ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และสร้างตราของสินค้าที่เกิดจากฝีมือของกลุ่มเป้าหมาย และหาช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน “กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้กลไกประชารัฐในการขับเคลื่อนภารกิจ ไปสู่ความสำเร็จ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม หากท่านใดประสบปัญหาความเดือดร้อน สามารถโทรแจ้งสายด่วน 1300 เพื่อขอคำปรึกษาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นางนภา กล่าว