อย.ผนึกกำลังกับ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) ลงนาม MOU ส่งเสริมนวัตกรรมทางอาหาร เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ก้าวไกลสู่ตลาดโลก ​อย. สนองนโยบายรัฐบาล เดินหน้าบูรณาการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ล่าสุดจับมือลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและการอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งด้านงานวิจัย ข้อกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ตามหลักสากล โดยเน้นคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปตามหลักการทางวิชาการ เพื่อยกระดับและผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารไทยสู่ระดับนานาชาติ ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุค 4.0 ​นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย ศ.ดร.ภาวิณี ชินะโชติ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศ (FoSTAT) ได้ร่วมมือกันสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้านอาหาร เนื่องจากปัจจุบันนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร อันส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับการค้าโลก อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อให้เกิดนวัตกรรมจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดหรือกฎระเบียบด้านมาตรฐานและความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศและประเทศคู่ค้าอีกด้วย ​นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ (21 พ.ย. 2560) อย. จึงร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการ พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้ให้ทุนวิจัย นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ ให้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้สอดคล้องและเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย รวมทั้งให้มีความรู้ความเข้าใจ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการขอประเมินความปลอดภัยด้านอาหาร การกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพ ข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จะร่วมกันสร้างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาขีดความสามารถดังกล่าวด้วย อนึ่ง ความร่วมมือนี้นับเป็นต้นแบบที่ดีแห่งการบูรณาการขับเคลื่อนธุรกิจด้านอาหารให้ไปสู่ตลาดโลก ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) ผลิตภัณฑ์ดีมีนวัตกรรม 2) ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ 3) ผลิตภัณฑ์อาหารไทยเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ และเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการส่งออก