วันที่ 21 พ.ย.60 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ....สาระสำคัญ คือ 1.กำหนดให้ผู้บริโภคเช่าซื้อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ ยกตัวอย่าง ในกรณีคนที่ซื้อสินค้าโดยชำระเป็นเงินผ่อนกับธนาคาร เช่น รถยนต์ ชื่อของรถยังเป็นของธนาคารอยู่ แต่เวลามีปัญหา ผู้ใช้รถไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้เช่าซื้อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ และสถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิจะต้องโอนสิทธิทั้งหลายให้แก่ผู้บริโภคเพื่อที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นเพียงผู้ใช้สินค้าจะได้มีสิทธิเรียกร้องกับผู้ค้าได้โดยตรง นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดความหมายของสินค้าชำรุดบกพร่องให้ชัดเจน คือ 1. สินค้าที่แตกต่างไปจากข้อตกลงที่ปรากฎในสัญญา แตกต่างจากวัตถุประสงค์ในการนำสินค้าใช้ แตกต่างจากการใช้ประโยชน์ในสินค้าตามปกติ หรือแตกต่างจากคุณสมบัติปกติของสินค้าในท้องตลาด หรือ 2. ความชำรุดบกพร่องของสินค้าเกิดจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจ เกิดจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าตามคู่มือการติดตั้ง หรือการส่งมอบสินค้าผิดประเภท หรือน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้ แลพ 3.สิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจในสินค้าที่ซื้อมาชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคมีสิทธิให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้า หรือสามารถขอบอกเลิกสัญญา หรือลดราคาสินค้า และสามารถเรียกค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แต่มีข้อยกเว้นกรณีที่ผู้บริโภคทราบอยู่แล้วถึงการบกพร่องของสินค้าและยกตัวอย่างการจำหน่ายสินค้าลดราคาหรือสินค้าจากการขายทอดตลาด อย่างไรก็ตามปัจจุบันพ.ร.บ.ดังกล่าวยังเป็นเพียงร่าง พ.ร.บ.เท่านั้น ซึ่งจะต้องผ่านกฤษฎีกาเสียก่อน และอาจมีการระบุรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ระยะเวลา 6 เดือนคงไม่ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท สินค้าบางชนิดไม่มีความซับซ้อนอาจจะให้เวลาน้อยกว่านั้น เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรับผลกระทบมากไป