นายกฯย้ำต้องไม่ซ้ำซ้อน/ส่งต่อกฤษฎีกา-สนช./ประกาศใช้เมษาปี 61-ประเดิมทุนพันล้าน ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานอนุกรรมการกองทุน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการอิสระฯ เสนอ ร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.(...) ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเรื่องเร่งด่วน ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดคือ ต้องมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี หลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้ และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนฯ ได้ภายในเดือน เม.ย.2561 ทั้งนี้ กองทุนฯ จะมีสถานะเป็นนิติบุคคล มีเป้าหมายที่กองทุนฯ ต้องดำเนินการอย่างน้อง 3 เรื่องหลัก คือ1.จัดทำฐานข้อมูล สถานะความเหลื่อมล้ำในการเข้าสู่การศึกษาของไทย โดยข้อมูลเหล่านี้ ควรมีการเปิดเผยสู่สาธารณะ มีความน่าเชื่อถือ สามารถวิเคราะห์ ชี้เป้า วางยุทธศาสตร์ที่ดีในการลดปัญหาความเหลื่อล้ำ 2.เสริมพลังในแง่ทรัพยากร เช่น การสนับสนุนเม็ดเงินให้องค์กรที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และ3.กองทุนฯ ต้องมีกลไกการประเมินผลที่ดีให้ประชาชนรับรู้เข้าใจถึงผลการดำเนินงาน นายประสาร กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจว่ากองทุนฯ นี้ ไม่ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอย่างมหาศาล กองทุนฯ นี้งบประมาณหมุนเวียนประมาณ 2-3 หมื่นล้านต่อปี ซึ่งถือว่าไม่น้อย คิดเป็นเงิน 5% ของงบฯ ที่ใช้ในการจัดการศึกษาซึ่งมาจากหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือหน่วยงานที่มีงบฯ ด้านการศึกษา ดังนั้น จึงต้องทำงานให้เกิดผลใน 3 เรื่องหลักข้างต้น เพื่อให้แต่ละหน่วยงานเกิดความมั่นใจ โดยทำงานอย่างมีข้อมูล มียุทธศาตร์ ไม่ใช่ทำงานแบบขี้เกียจได้เงินมาแล้วเฉลี่ยให้ทุกคน ที่สำคัญคืออยากให้เงิน 5% นี้ผลักดันเป็นตัวอย่างให้การใช้งบฯ ด้านการศึกษาที่เหลืออีก 95% ประสบความสำเร็จ เช่น หากมีโครงการที่ดีเกิดขึ้นก็ดำเนินการให้เป็นแบบอย่าง "นายกฯ ย้ำให้การทำงานของกองทุนฯ ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น โดยอนุกรรมการฯ ยกร่างหลักเกณฑ์หรือระเบียบกองทุนฯ 2 ชุด กำหนดเป้าหมาย ว่ากองทุนฯ ช่วยใคร กำหนดคุณสมบัติ เช่น ช่วงอายุ รายได้ครอบครัว หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา เพราะบางครั้งการดูรายได้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการทำงานประสานร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินงานที่ชัดเจน ทั้งนี้ กองทุนฯ อาจเป็นหน่วยประสาน โดยไม่จำเป็นต้องทำเองทุกเรื่อง" นายประสาร กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.กองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู อาจารย์ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ให้มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม รวมทั้งมีศักยภาพที่จะดำรงชีวิตโดยพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง กำหนดให้กองทุนฯ ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ได้แก่ เงินที่รัฐจัดสรรให้เป็นทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของเงินงบประมาณแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น โดยเงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ผู้เสียภาษีเงินได้มีสิทธิแสดงเจตนา ให้รัฐนำเงินที่ตนได้เสียภาษีไว้ไปอุดหนุนกองทุนได้ปีละไม่เกิน 5,000 บาท และผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาค ไปหักเป็นค่าลดหย่อน หรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของจำนวนเงินบริจาค ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับบุคคลธรรมดา และไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิสำหรับนิติบุคคล อย่างไรก็ตาม กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประกอบด้วยประธานกรรมการ (ตั้งโดยคณะรัฐมนตรี) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี