ชี้ความเชื่อผิดๆ เอาช้อน-ของไปงัดปากไว้กันกัดลิ้นยิ่งอันตราย หลุดลงหลอดลมถึงตาย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยว่า พบไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักราว 6 – 7 แสนคน พบได้ในทุกเพศทุกวัย สาเหตุจากโรคทางกรรมพันธุ์ ติดเชื้อในสมอง สมองขาดออกซิเจน มีไข้สูงแล้วชัก มีอุบัติเหตุ เกิดแผลเป็นในสมอง ความเสื่อมของร่างกายหรือเนื้องอกเจริญผิดปกติแต่กำเนิด ได้รับสารพิษ เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการหลากหลาย สังเกตยาก ส่วนหนึ่งอาจไม่รู้ตัวจึงไม่ได้รักษา เช่น เหม่อลอย วูบ เบลอจำไม่ได้ชั่วขณะ ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 – 6 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะชัก แต่หากได้รักษาที่เหมาะสม จะดำเนินชีวิตได้ปกติ การรักษามีทั้งรับประทานยา และผ่าตัด ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักดื้อต่อยาที่รักษามากขึ้น ซึ่งอาการชักที่อยู่ในภาวะวูบ ภาวะเหม่อลอย เป็นเพียงไม่กี่วินาทีแล้วหาย ทำให้ไม่ทันสังเกต ถ้ามีอาการเหล่านี้ซ้ำ ๆ แม้จะไม่มีอาการเกร็ง ชัก กระตุก ควรมาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ รวมทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) สามารถบอกได้ว่าเป็นภาวะของโรคลมชักหรือไม่ นพ.อุดม ภู่วโรดม ผอ.สถาบันประสาทวิทยากล่าวว่า การปฐมพยาบาลต้องทำให้ถูกวิธี การเอาช้อนหรือสิ่งของต่าง ๆ ไปงัดปาก เพื่อป้องกันผู้ป่วยกัดลิ้นซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้สำลัก หรือสิ่งของหลุดลงไปในหลอดลมอาจเสียชีวิตได้ วิธีที่ถูกต้องและจำง่าย “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด หยุดชักเองได้” โดยช่วยเหลือขณะมีอาการชัก เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น ป้องกันไม่ให้พลัดตกจากที่สูง หากมีอาการในบริเวณที่มีการสัญจรไปมาต้องคอยระมัดระวังอุบัติเหตุ เป็นต้น เมื่อหยุดชักจึงให้นอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง คลายเสื้อผ้าให้หลวม อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท นอกจากภาวะชักเกร็งกระตุกแล้ว ยังต้องระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการชักเหม่อลอย เนื่องจากเมื่อมีอาการจะไม่รู้สึกตัวและอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ว่ายน้ำแล้วจมน้ำ ชักขณะขับรถ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้ ผู้ป่วยที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรจะต้องระมัดระวังอย่างมาก ผู้ใกล้ชิด คนในครอบครัวเพื่อนร่วมงาน ควรทำความเข้าใจกับโรคนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยลมชักที่อาการกำเริบจะชักเกร็งกระตุกไม่เกิน 2 นาที แต่หากชักนานเกิน 5 นาที ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร.1669