เกษม ชนาธินาถ จ.นครราชสีมา มทส.โชว์พันธกิจงานวิจัยก้าวสู่ไทยยุค 4.0 เปิดตัว "เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง"ในแหล่งน้ำขังขนาดใหญ่ ลำแรกของโลก!! ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ควบคุมระบบจีพีเอส และรีโมท พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัยภายในวังสระปทุม รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยถึง นวัตกรรมเรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง โดยทีมวิจัยจากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. ประกอบด้วย รศ.เรืออากาศเอก ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดี, รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และ ดร.ชโลธร ธรรมแท้ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล และคณะ ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่เป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาให้สังคม ด้วยการวิจัยคลื่นอัลตร้าโซนิค ในย่านความถี่ที่เหมาะสมกับการกำจัดลูกน้ำยุงได้สำเร็จ โดยไม่ส่งผล กระทบกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ไม่ทำลายหรือสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ มทส.ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2560ที่ผ่านมา เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัยภายในวังสระปทุม ถือเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำความภาคภูมิใจมาสู่มหาวิทยาลัย สำหรับ เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง ลำแรกนี้เป็นงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงคลื่นอัลตร้าโซนิค ระบบ 1 หัวจ่าย ที่ประสบความสำเร็จจากงานวิจัยในปี 2553มทส.ได้พัฒนาและมอบให้หน่วยงานต่างๆ ให้ไปใช้งานกว่า 200 เครื่อง แต่พบปัญหาข้อจำกัดเกี่ยวกับกายภาพของแต่ละพื้นที่ อาทิ แหล่งน้ำขังขนาดใหญ่และท่อระบายน้ำ จึงได้พัฒนางานวิจัยโดยสร้างเรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง แยกการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การออกแบบวงจรคลื่นอัลตร้าโซนิค ระบบ 4 หัวจ่าย และการออกแบบเรือ ให้มีสมรรถนะครอบคลุมและเหมาะสมในการใช้งาน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ใช้ระยะเวลาออกแบบและสร้างชิ้นงานประมาณ 6 เดือน ด้าน รศ.ดร.ชาญชัย กล่าวเสริมถึงหลักการทำงานของเครื่องกำจัดลูกน้ำยุง อยู่ที่การสร้างคลื่นกลที่ความถี่ย่านอัลตร้าโซนิค ซึ่งได้จากการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานกล อาศัยหลักการของวงจรกำเนิดความถี่ (Oscillator) ที่ความถี่ย่านอุลตร้าโซนิค ขนาด 20 กิโลเฮิร์ท ร่วมกับวงจรแปลงผันกำลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (DC to DC Converter) เพื่อให้มีขนาดพิกัดความแรงของสัญญาณสูงขึ้น เมื่อส่งสัญญาณผ่านไปยังอุปกรณ์ทรานสดิวเซอร์ ที่เชื่อมต่อกับแท่นโลหะ จะถูกแปรสัญญาณให้อยู่ในรูปคลื่นกลที่มีความถี่เดียวกัน และนำคลื่นดังกล่าวแพร่กระจายลงสู่บริเวณที่มีน้ำเป็นตัวกลาง เมื่อพลังงานแพร่กระจายลงสู่น้ำ จะไปทำลายวัฏจักรการเจริญเติบโตลูกน้ำยุงไม่ให้สามารถเจริญเติบโตเป็นยุงตัวเต็มวัยได้ สำหรับการออกแบบตัวเรือ นั้น ดร.ชโลทร กล่าวเสริมว่า ออกแบบให้เป็นลักษณะ "เรือท้องแบน" เพื่อประหยัดพลังงานและใช้ในน้ำตื้นได้ดี และสามารถขับเคลื่อนความเร็วต่ำ ลำเรือแบ่งเป็น 2 ฝั่งทางด้านข้างถูกเชื่อมต่อกัน เพื่อติดตั้งเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงคลื่นอัลตร้าโซนิค 4 ชุด และระบบควบคุมเรือบริเวณกลางลำเรือ ลำเรือมีขนาดความยาว 100 เซนติเมตร ความกว้าง 67 เซนติเมตร ความสูง 20 เซนติเมตร สามารถรับน้ำหนักได้ 50 กิโลกรัม ใช้ไฟเบอร์กลาส(Fiberglass) เป็นวัสดุสร้างตัวเรือ เนื่องจากมีความแข็งแรงต่อน้ำหนักสูง ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี ระบบขับเคลื่อนใช้หลักการThrust Vectoringเป็นการควบคุมทิศทางของแรงขับโดยตรงไม่ใช้หางเสือ เพื่อให้เรือสามารถเลี้ยวมุมแคบได้ดี รัศมีวงเลี้ยว 1 เมตร การควบคุมเรือทำได้ทั้งแบบบังคับเองผ่านรีโมทคอนโทรล และแบบอัตโนมัตโดยผ่านชุดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ติดตั้งบนเรือ สามารถกำหนดให้เรือไปตามจุดต่าง ๆ ได้โดยผ่านระบบดาวเทียมจีพีเอส (GPS) ความเร็วสูงสุดของเรือ เดินหน้า 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถอยหลัง 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะควบคุมด้วยรีโมทคอลโทรล 800 เมตร และควบคุมผ่านดาวเทียมไม่จำกัดระยะทาง ควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ 32 bit โดยสามารถทำงานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมงต่อการชาร์ทไฟ 1 ครั้ง ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถสกัดกั้นการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะได้เป็นอย่างดี และต้นทุนในการผลิตต่อลำประมาณ 100,000 บาท รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มทส.มุ่งผลิตผลงานวิจัยที่สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ดังนั้น คำว่า "จากหิ้ง สู่ห้าง" จากนี้ไปจะไม่เป็นเพียงการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริงเท่านั้น แต่หากสามารถต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการเริ่มต้น (Startup) และหากก้าวไปสู่กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ถือเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งในการสร้างแรงงานคุณภาพของสถาบันการศึกษาที่ป้อนสู่สังคม อย่างไรก็ตาม เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง มทส.ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตร ซึ่งสถานประกอบการ หน่วยงาน องค์กร ต่างๆ ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาฯ 0-4422-4825