ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ พร้อมอดีตบก.หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมืองตรัง ออกโรง “ชำระ” หนังสือประวัติศาสตร์เมืองตรัง หลังตีพิมพ์และวางจำหน่าย ตั้งข้อสังเกตข้อมูลผิดพลาดหลายจุด อาจสร้างความเสียหายต่อประวัติศาสตร์เมืองตรัง เตรียมทำหนังสือแจ้งจังหวัด และสำนักพิมพ์ให้ยุติจำหน่าย รายงานข่าวจากจังหวัดตรังแจ้ง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ว่า หลังจากที่มีหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์เมืองตรัง” เขียนโดย ถนอม พูนวงศ์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2560 จำนวน 1,000เล่ม ด้วยการวางจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดตรังและทั่วประเทศ และเป็นหนังสือขายดีตามร้านหนังสือในขณะนี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ในจังหวัดตรัง ได้ซื้อหนังสือเล่มดังกล่าวมาอ่าน ปรากฏว่า หนังสือ “ประวัติศาสตร์เมืองตรัง”ดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนทั้งส่วนเนื้อหาและภาพ จึงออกมาเคลื่อนไหว ให้ทางจังหวัดเข้ามาดำเนินการ ก่อนที่อาจจะส่งผลเสียและกระทบด้านประวัติศาสตร์จังหวัดตรัง หากมีการนำข้อมูลในหนังสือเล่มดังกล่าวไปอ้างอิงต่อๆกันไป วันเดียวกัน คณะผู้ตั้งข้อสังเกตหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์เมืองตรัง’จำนวน 4 คนประกอบด้วย 1) อาจารย์สุนทรี สังข์อยุทธ์ อดีตหัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง 2) อาจารย์สุวัฒน์ ทองหอม อาจารย์โรงเรียนสภาราชินี / เจ้าของผลงาน ‘ลิบงเมืองเก่า’ (กรณีศึกษาประวัติศาสตร์เกาะลิบง) 3) อาจารย์วัชรินทร์ โตขาว รองผู้อำนวยการโรงเรียนสภาราชินี / นักเขียน และ 4) นายวานิช สุนทรนนท์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง สรุปเบื้องต้นพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือเล่มดังกล่าวมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนหลายๆ ประการ โดยนายวานิช สุนทรนนท์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ฅนตรัง กล่าวว่า ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่าหนังสือดังกล่าวมีความผิดพาด 2 ประเด็น ประกอบด้วย ด้านเนื้อหา และมีประเด็นทางด้านรูปแบบ โดยประเด็นทางด้านเนื้อหา อาจารย์สุนทรี สังข์อยุทธ์ และอาจารย์สุวัฒน์ ทองหอมผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์เมืองตรัง ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาได้ทำการศึกษา ค้นคว้า และบันทึกประวัติศาสตร์เมืองตรังไว้เป็นหนังสือและเอกสารอื่นๆ แล้วจำนวนมาก รวมทั้งเป็นสองท่านที่ผู้รวบรวมเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ได้นำผลงานไปตีพิมพ์โดยไม่ได้ขออนุญาต “อาจารย์สุนทรี สังข์อยุทธ์, ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดพลาด บกพร่อง ของหนังสือ 'ประวัติศาสตร์เมืองตรัง' โดย ถนอม พูนวงศ์ ไว้หลายๆ ประการ ในหลายๆ หน้า ตัวอย่างเช่น หน้า 9 หนังสือระบุไว้ว่า ‘ตรังเป็นเมืองประวัติศาสตร์มีอายุประมาณ 1,000 ปี’ ตรงนี้ อ.สุนทรี ตั้งคำถามว่า ใครเป็นผู้ประมาณ และขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ ก่อนนี้ / ‘เจ้าเมืองมีฐานันดรศักดิ์เป็นพระยา’ ซึ่งไม่เป็นความจริง / ตรัง ‘เป็นฐานทัพเรือเพื่อยกไปทำศึกกับพม่า แย่งชิงเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรีคืนจากพม่า สมทบกับกองทัพเรือสมเด็จพระอนุชาธิราช...’ ไม่เป็นความจริง เพราะตรังมีกองเรือเพื่อปกป้องตัวเอง อย่างดีก็แค่ลาดตระเวณ หรือไปช่วยถลาง” ที่ประชุมตั้งข้อสังเกต อีกว่า อีกทั้งในหน้า 10 หนังสือระบุไว้ว่า ‘นักภาษาสมัยใหม่ อธิบายว่า...’ ไม่ได้บอกที่มาของการอ้างว่านักภาษาสมัยใหม่ เป็นใคร / ‘ตรังเค มาจากภาษามลายู’ ไม่เป็นความจริง เพราะได้ตรวจสอบพจนานุกรมภาษามลายูแล้ว ไม่มีคำนี้ หน้า 11 หนังสือระบุไว้ว่า ‘ชาวท้องถิ่นเรียกจังหวัดตรังว่าทับเที่ยง’ ไม่เป็นความจริง เพราะทับเที่ยงเป็นพื้นที่หรือตำบลหนึ่งของจังหวัดตรังเท่านั้น ฯลฯ “ในส่วนของ อาจารย์สุวัฒน์ ทองหอม, ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงความผิดพลาด บกพร่อง ของหนังสือ 'ประวัติศาสตร์เมืองตรัง' ไว้อีกหลายๆ ประการ ตัวอย่างเช่น หน้า 33 หนังสือระบุไว้ว่า ‘ในบันทึกของหลวงจีนอี้จิง... เมื่อศึกษาอยู่ที่อินเดียนานถึง 10 ปี ก็เดินทางกลับมาทางลัดผ่านทางทับเที่ยง... เส้นทางช่องเขาพับผ้า เข้าสู่เมืองพัทลุง...’ มีหลักฐานอะไรที่ชี้ชัดว่า อี้จิง มาทางทับเที่ยง ผ่านเส้นทางเขาพับผ้า / ข้อความในหนังสือส่วนนี้เป็นข้อความที่ไม่จำเป็นต้องรับรู้ก็ได้ หน้า 129 เรื่องที่เกี่ยวกับแม่ถ้วน หนังสือระบุไว้ว่า ‘แม่ถ้วนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน เลี้ยงน้อง 7 คน เช่น ทำกระเบื้องมุงหลังคา’ ข้อความส่วนนี้ไม่เป็นความจริง เพราะกระเบื้องมุงหลังคา แม่ถ้วนเพิ่งมาทำตอนแต่งงานแล้ว” “หน้า 130 เรื่องที่เกี่ยวกับแม่ถ้วน หนังสือระบุไว้ว่า ‘แม้นายชวนจะได้เป็นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่แม่ถ้วนยังดำรงชีวิตเหมือนเดิม คือเป็นแม่ค้าขายพุงปลา...’ ข้อความนี้ไม่เป็นความจริง เพราะตอนนายชวนเป็นนายกรัฐมนตรี แม่ถ้วนเลิกอาชีพแม่ค้าแล้วหน้า 175 เรื่องเกาะลิบง หนังสือระบุไว้ว่า ‘เกาะนี้มีหมู่บ้านชาวประมงหลายหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านลิบง หมู่บ้านหน้าเขา และหมู่บ้านหลังเขา...’ ความจริงบนเกาะลิบงมีชุมชนใหญ่ 3 ชุมชน คือ ชุมชนหน้าบ้าน(บ้านบาตูปูเต๊ะ) ชุมชนบ้านหลังเขา และชุมชนบ้านพร้าว ไม่มีชื่อชุมชนบ้านลิบง และบ้านหน้าเขา ฯลฯ” นายวานิช กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นทางด้านรูปแบบ ตนได้ตั้งข้อสังเกตในด้านรูปแบบการตีพิมพ์หนังสือไว้หลายๆ ประการภาพปก1. เครื่องหมายจังหวัดตรัง ตรงมุมขวาบน – ได้รับอนุญาตหรือไม่ 2. แผนที่จังหวัดตรัง ซีกซ้ายของปก (รวมทั้งภาพแผนที่ภายในเล่มอีกหลายภาพ) - เป็นแผนที่เก่า สมัยที่ยังเป็นกิ่งอำเภอหาดสำราญ ทั้งที่ ทั่วประเทศมีการยกเลิกกิ่งอำเภอมานานแล้ว3. ภาพหอนาฬิกา ทางขวาของปก - เป็นภาพถ่ายของ ‘ต๊ะ’ ปกรณ์กานท์ ทยานศิลป์ นักถ่ายภาพอิสระ ซึ่งเจ้าของภาพได้เห็นหนังสือเล่มนี้แล้วและแจ้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เป็นภาพของเขา และไม่มีการขออนุญาตก่อนนำไปตีพิมพ์ “4. ภาพน้ำตก ทางขวาของปก - นำภาพน้ำตกในอุทยาน พลิทวิเซ่ PLITVICE ประเทศโครเอเชีย (เคยเป็นรัฐหนึ่งในประเทศยูโกสลาเวีย ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างยุโรปกลางกับยุโรปใต้) โดยมีความตั้งใจ(ที่ผิดพลาด)ว่า เป็นน้ำตกในจังหวัดตรัง ซึ่งก่อนนี้ ภาพน้ำตกดังกล่าวเคยมีผู้นำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์พร้อมระบุว่า ตั้งอยู่ในเกาะเหลาเหลียง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง จนเป็นปัญหาสร้างความสับสนมาแล้ว” “ภาพภายในเล่ม 1. ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ คุณถนอม พูนวงศ์ ผู้เรียกตัวเองว่า ‘ผู้รวบรวมเรียบเรียง’ ได้เขียนไว้ว่า ‘ได้พยายามศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานซึ่งผู้รู้ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในเชิงประวัติศาสตร์ สารคดี ตำรา จากหนังสือหลายเล่ม ตลอดถึงเว็บไซต์สาธารณะต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต...’ อาจจะเป็นเพราะผู้รวบรวมเข้าใจว่าสื่อต่างๆ เป็นสื่อสาธารณะ จึงสามารถดึงข้อมูลและภาพถ่ายนำมาใช้เป็นของตัวเองได้ โดยอาจจะหลงลืมไปว่า แม้สื่อต่างๆ จะเผยแพร่ในช่องทางสาธารณะ แต่ทั้งข้อมูลและภาพถ่ายยังมีเจ้าของในเชิงกฎหมายอยู่ 2. จากการดูภาพทุกภาพภายในเล่ม เข้าใจว่า ผู้รวบรวมได้นำมาจากหนังสือ ตำรา และสื่อเว็บไซต์ทั้งสิ้น และบางภาพอาจจะเป็นเพราะไม่มีความเข้าใจเพียงพอจึงนำมาเผยแพร่แบบผิดๆ เช่น ภาพพะยูน (ที่ผู้รวบรวมเรียกผิดๆ ว่าปลาพะยูน) เป็นพะยูนคนละสายพันธุ์ที่มีอยู่ในจังหวัดตรัง สรุปและเสนอแนะ” นายวานิช กล่าว นายวานิช กล่าวและว่า ดังนั้นคณะผู้ตั้งข้อสังเกตหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์เมืองตรัง’ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า 1. ทำหนังสือพร้อมข้อสังเกตในรายละเอียดต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง หอจดหมายเหตุฯ ตรัง เพื่อทราบ 2. ทำหนังสือทักท้วงถึงสำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ให้หยุดการจำหน่าย เผยแพร่หนังสือเล่มนี้จนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง 3. ทำหนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดตรัง เพื่อทราบต่อไป