ล้มครืนพังพาบ หมดสภาพจากเสียงที่เคยได้รับแซ่ซ้องสรรเสริญว่าเป็น “ราชินีแห่งยุโรป” กันไปเลย สำหรับ “นางอังเกลา แมร์เคิล” นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี 3 สมัยเต็ม 4 สมัยย่าง ซึ่งประสบความล้มเหลวอย่างชนิดไม่เป็นท่า ในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล เพื่อบริหารปกครองประเทศในสมัยที่ 4 อย่างเต็มภาคภูมิของเธอข้างต้น ภายหลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปกันมาได้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทว่า การณ์กลับไม่เป็นเยี่ยงนั้น เมื่อปรากฏว่า พรรคการเมืองที่มาร่วมเจรจา มีอันต้องตบเท้าออกไปจากห้องหารือ นั่นคือ “พรรคประชาธิปไตยเสรี” หรือ “เอฟดีพี (FDP)” ของ “นายคริสเตียน ลินด์เนอร์” โดยพรรคเอฟดีพีที่มีนายลินด์เนอร์ ออกจากการเจรจาร่วมจัดตั้งรัฐบาล 3 พรรค อันประกอบด้วยพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน - พรรคสหภาพสังคมคริสเตียน หรือ “เซเดอู /เซเอสอู” หรือที่บางคนเรียกตามสำเนียงภาษาอังกฤษว่า “ซีดียู /ซีเอสยู (CDU - CSU)” ของ “นางแมร์เคิล” และ “พรรคกรีน” ของ “นางคาทริน เกอริง-เอ็กคาร์ดต์” และ “นายเซม อืซเดเมียร์” ถกกันอยู่ดีๆ ก็มี “พรรคเอฟดีพี” ถอยทัพกลับไป โดยนายลินด์เนอร์ หัวหน้าพรรคเองนั่นแหละ ที่ “วอล์คเอาท์” เดินออกไปจากห้อง หลังแยกทางกันออกไป ทางนายลินด์เนอร์ กล่าวแต่เพียงสั้นๆ ว่า เหตุผลของการไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับนางแมร์เคิล เพราะทางพรรคเอฟดีพี ขาดความเชื่อมั่นที่จะร่วมงานบริหารปกครองประเทศกับพรรคเซเดอู /เซเอสอู ของนางแมร์เคิล และกับพรรคกรีน ของนางเกอริง-เอ็กคาร์ดต์ และนายอืซเดเมียร์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทางหัวหน้าพรรคเอฟดีพี มิได้เปิดเผยในรายละเอียด แต่ทว่า บรรดานักวิเคราะห์ก็แสดงทรรศนะว่า เรื่องหลักๆ ที่ทำให้ทาง “เอฟดีพี” และ “ซีดียู/ซีเอสยู” ต้องออกอาการ “ทางใคร ทางมัน” อย่างที่เห็น ก็มาจากการที่ทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่อง “นโยบายรับผู้ลี้ภัย” โดยทางฝั่ง “ซีดียู/ซีเอสยู” ของนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลนั้น มีนโยบายรับผู้ลี้ภัยให้เข้ามาพำนักในเยอรมนี อย่างชนิด เปิดโล่งโอเพ่นแอร์ จนบรรดาผู้อพยพเรียกขานขนานนามให้นางแมร์เคิล เปรียบประดุจดัง “แม่พระของผู้ลี้ภัย” แตกต่างสวนทางกับทางฟากของ “เอฟดีพี” ขณะที่ บรรดานักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่ง ก็แสดงทรรศนะว่า เรื่องนโยบายเกี่ยวกับการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งพ่วงกับ “นโยบายการเลิกการใช้ถ่านหิน” อันหนึ่งในมาตการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนข้างต้นนั้น ก็เป็นอีกประเด็หนึ่งที่ทำให้การเจราจาสามพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมของเยอรมนีหนนี้ ต้อง “วงแตก” ทั้งนี้ เนื่องจาก “พรรคกรีน” นั้น มีนโยบายเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนข้างต้น ซึ่งรวมถึงการยกเลิกการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเต็มสูบ ตาม “คาถา” ที่พวกเขาท่องกันเป็น “สรณะ” ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตรงข้ามกับทางพรรคเอฟดีพี ที่มีแนวนโยบาย “โปรธุรกิจ” คือ สนับสนุนส่งเสริมกลุ่มธุรกิจต่างๆ จึงสวนทางกับนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของพรรคกรีน อย่างชนิดเดินร่วมทางด้วยกันเป็นเรื่องยาก ทั้งหมดทั้งปวงข้างต้น ก็ส่งผลให้การเจรจาสามพรรค สามฝ่าย ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลานานกว่า 4 สัปดาห์ มีอันต้องภินท์พัง โดยนางแมร์เคิล จะเข้าพบ “ประธานาธิบดีแฟรงค์ - วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์” เพื่อรายงานถึงความล้มเหลวการเจรจาดังกล่าวให้รับทราบ กล่าวถึงการพยายามจับไม้จับมือ ในลักษณะการรวมตัวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมครั้งนี้ หรือที่เรียกกันติดปากในเยอรมนีว่า “กรอบความร่วมมือจาไมกา” เพราะมาจาก “สีประจำพรรคการเมือง” ทั้ง 3 พรรค นั่นเอง คือ พรรคซีดียู/ซีเอสยู สีดำ ส่วนพรรคเอฟดีพี สีเหลือง และพรรคกรีน สีเขียว ทั้งสามสีมาต่อกันเข้าก็คล้ายกับสีธงชาติของประเทศจาไมกา จึงเรียกกันว่า “กรอบความร่วมมือจาไมกา” ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นสถานการณ์บีบบังคับนางแมร์เคิล ให้ต้องมาเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมอันยากยิ่งเช่นนี้ ซึ่งสืบเนื่องมาจากคะแนนเสียงที่หดหายไปอย่างลดฮวบของสมาชิกพรรคซีดียู/ซีเอสยูของนางแมร์เคิล นั่นเอง ที่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ได้จำนวน ส.ส. เพียง 246 ที่นั่ง จึงจำเป็นต้องไปผนวกกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เบื้องต้น ปรากฏว่า พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือเอสพีดี ของนายมาร์ติน ชูลซ์ ที่เคยร่วมรัฐบาลกันในชุดก่อนหน้าล่าสุด และได้รับเลือกมาเป็นลำดับ 2 ด้วยจำนวนถึง 153 ที่นั่ง นั้น ได้ประกาศว่า ปฏิเสธที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบ “ซ้าย-ขวา” กับนางแมร์เคิลอีก ทำให้นางอินทรีเหล็กผู้นี้ ต้องตากหน้าไปเจรจากับพรรคเอฟดีพีและพรรคกรีน ซึ่งแม้ว่ามีนโยบายแตกต่างออกแบบคนละด้าน สวนทางคนละขั้ว เพื่อให้ได้จำนวนที่ ส.ส. เกิน 355 เสียง อันเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาบุนเดสทากที่รวมกับสมาชิกสภาในแบบที่นั่งเพิ่มเติมเบ็ดเสร็จก็ 710 ที่นั่งด้วยกัน (ส.ส. 598 ที่นั่ง และสมาชิกสภาที่นั่งเพิ่มเติมอีก 111 ที่นั่ง) โดยถ้าหากพรรคซีดียู/ซีเอสยู รวมกับพรรคเอฟดีพีและพรรคกรีน กันได้แล้วหล่ะก็ จะมี ส.ส.รวมกัน 393 ที่นั่ง คือ เป็นพรรคซีดียู/ซีเอสยู 246 ที่นั่ง พรรคเอฟดีพี 80 ที่นั่ง และพรรคกรีน 67 ที่นั่ง ทว่า เมื่อไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากอย่างนี้ได้ ก็ส่งผลให้เหลือทางเลือกสองทางแก่นางแมร์เคิล คือ ทางแรก นางแมร์เคิล จัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยกับพรรคกรีน ซึ่งก็จะมี ส.ส.เพียง 313 เสียงเท่านั้น สถานการณ์รัฐบาลไม่ผิดอะไรกับ “เป็ดง่อย” กันอยู่ในที เพราะไม่สามารถทำงาน คือ บริหาร อะไรได้ หรือถ้าอาการหนักก็สุ่มเสี่ยงที่จะล้มคว่ำกลางสภาในยามเสนอญัตติต่างๆ ส่วนอีกทางหนึ่ง ก็ได้แก่ ให้ประชาชนชาวอินทรีเหล็กตัดสิน ด้วยการให้เลือกตั้งกันใหม่ โดยหนทางนี้ บรรดานักวิเคราะห์ ล้วนชี้นิ้วฟันธงว่า นางแมร์เคิลก็มีความเสี่ยงหาน้อยไม่ เพราะเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา เสียง ส.ส.หดหาย ก็เพราะคะแนนนิยมของเธอนั้นลดฮวบ อันเป็นผลมาจากกระแสเสียงของประชาชาวเมืองเบียร์ ไม่พอใจต่อนโยบายการรับผู้ลี้ภัยของเธอไม่น้อยเหมือนกัน กอปรการมาแรงแซงโค้งของพวกชาตินิยมขวาจัดในยุโรป รวมทั้งในเยอรมนีเอง ก็ทำให้เจ้าของฉายา “ราชินีแห่งยุโรป” รายนี้ ต้องคิดหนัก