เมื่อเร็วๆนี้ที่ห้องประชุม โรงแรมป่าตองรีสอร์ท อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายวิชัช ไตรรัตน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมสัมนา “การเพิ่มบทบาท อปท.ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปการเมือง” ซึ่งสมาคมอบต.แห่งประเทศไทยจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20 -22 พ.ย. 2560 โดยมี นายชัชวาลล์ คงอุดม อดีตสว.กทม. คอลัมนนิสต์อาวุโสหนังสือพิมพ์สยามรัฐ นายกอบต. ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมอบต.แห่งประเทสไทย และผู้แทนจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน ทั้งนี้วาระในการประชุม มีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฏหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฏหมายส่วนท้องถิ่น โดยนาย ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ , การบรรยาย “การเพิ่มบทบาท อปท.ภายใต้ยุทศาสตร์ชาติและการปฏิรูปการเมือง”โดยรศ.ดร.กมลพร กัลยาณมิตร และการบรรยายหัวข้อ การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่สากล ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยวิทยากรจากสถาบันอาหาร(NFI) อย่างไรก็ตามในที่ประชุมยังได้มีการพูดถึง กรณีที่นาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุม สัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมาที่จ.สุราษฎร์ธานี ว่า กระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้มีการปลดล็อกแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการใช้เงินของอบจ.และอบต.นำเงินของหน่วยงานที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาทออกมาใช้ในโครงการที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในระยะยาวได้ เช่น โครงการด้านการท่องเที่ยวในชุมชน โครงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการปลูกพืชเกษตร แล้วหาตลาดรองรับเช่น การจำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นต้น โดยจากการแก้ไขระเบียบดังกล่าวในที่ประชุมจึงให้แต่ละอบต.มีการสำรวจแต่ละพื้นที่ในชุมชนของตัวเองว่ามีความเหมาะสมจะทำโครงการใดได้บ้าง นอกจากนี้ยังให้สำรวจสินค้าชุมชน ซึ่งจะทำสรุปข้อมูลข้อเสนอ เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการสำรวจความเห็นในที่ประชุมนั้นพบหลายพื้นที่ยังคงต้องการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเช่น บางตำบล ของอำเภอแม่ระนาด ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ระบบน้ำ และปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้รายได้ประชากรน้อยลง และหลายพื้นที่ของหลายจังหวัดต้องการงบประมาณพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยในส่วนของสมาคมอบต.จะเร่งทำข้อเสนอส่งไปถึงรัฐบาลอย่างเร็วที่สุดแต่ก็ยังไม่มีกรอบกำหนดว่าเมื่อไร ซึ่งหากพิจารณาอนุมัติได้แห่งละ 1 ล้านบาท ก็ต้องใช้งบประมาณรวม 5,000 กว่าล้านบาท และหาก ให้แห่งละ 2 ล้านบาท ก็จะใช้งบประมาณ รวมประมาณ 10,000 ล้านบาท นายวิชัช ไตรรัตน์ นายกสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุมสัมมนาสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย หลักๆมี 3 - 4 ประเด็นคือ 1.การให้องค์ความรู้เกี่ยวกับสถาบันอาหาร ซึ่ง สมาคมฯมีแนวคิดที่จะทำMOU กับสถาบันอาหาร ซึ่งจะเข้าถึงไปในพื้นที่ชนบท ส่งเสริมให้อาหารถูกป้อนไปยังตลาดโลก 2.เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ตามแนวคิดของรัฐบาล เกี่ยวกับการยุบหรือควบรวมหรือยกระดับอบต.ซึ่ง ในรัฐธรรมนูญใหม่ ระบุว่าจะต้องมีการสอบถามความเห็นของพี่น้องประชาชนก่อน ซึ่งสมาคมอบต.แห่งประเทศไทยในฐานะของตัวแทนพี่น้องประชาชนที่มากันทั่วประเทศ ได้มีการหารือกันว่าใครมีอะไรจะเสนอ และทำอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นประโยชน์ ก็จะรวบรวมนำเสนอไปยังรัฐบาลก่อนที่จะปฏิรูปต่อไป ประเด็นที่ 3. ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกคนกำลังติดตามคือเราจะเลือกตั้งกันเมื่อไหร่ วันนี้ก็ยังไม่มีใครทราบ ซึ่งจากการสอบถามความเห็นของพี่น้องสมาชิกสมาคมต่างมีความเห็นว่าอยากให้การเลือกตั้งในส่วนอื่น เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์ (ส.ส.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) หรือเทศบาลดำเนินไปก่อน เหลือส่วน อบต.ไว้ท้ายสุดเนื่องจากยังมีประเด็นการยุบหรือควบรวมอบต.คาอยู่ ถ้าหากมีการเลือกตั้ง อบต.ก่อน เมื่อมีการควบรวม 2 อบต.จะต้องเกิดปัญหาเพราะเหลือเพียงนายกคนเดียวที่ต้องรับตำแหน่ง ทำให้เป็นประเด็นว่าใครจะบริหาร จึงอยากให้การเลือกตั้ง อบต. อยู่ลำดับหลังสุดเพื่อให้มีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะด้านกฏหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงควรให้มีข้อสรุปหรือมีการปฏิรูปที่ชัดเจนก่อน "เรื่องการควบรวมหรือการยุบนั้น จากการสอบถามไปยังสมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นอบต.ทั้ง 5,000 กว่าแห่งนั้น ไม่อยากให้มีการยุบหรือควบรวมเนื่องจากมองว่า องค์การบริหารส่วนตำบลยังคงบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถเข้าถึงประชาชนรากหญ้าได้ดี และมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนได้อย่างแท้จริง" นายกสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย กล่าว ด้านนายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมสมาคมฯ ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างของฝ่ายบริหารชุดใหม่ซึ่งนำโดยนาย วิชัช ไตรรัตน์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งจึงมีการปรับตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ทำอย่างไรให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลมีศักยภาพในการจัดบริการสาธารณะให้กับพี่น้องประชาชนให้มาที่สุดตามนโยบายของภาครัฐ 2. คือการหากรอบหรือข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ของท้องถิ่นนั้นๆ มีอะไรบ้างเพื่อทำข้อเสนอ 3. คือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในปี 2561 ที่จะถึงนี้เป็นปีการท่องเที่ยว และกำหนดให้การท่องเที่ยวเน้นไปที่ชุมชนท้องถิ่น เน้นการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะต้องมาวางว่าท้องถิ่นจะปรับตัวอย่างไร และสุดท้ายก็จะต้องมาคุยกันว่าอนาคตของบ้านของเมืองว่าด้วยเรื่องการกระจายอำนาจ เราจะต้องมีกลไกในการขับเคลื่อนอย่างไรในการทำให้ฐานล่างของประเทศ มีความแข็งแรงมากขึ้น นายธีรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในส่วนของข้อจำกัดด้านงบประมาณยังเป็นปัญหา อุปสรรคของทุกท้องถิ่น ซึ่งกระทรวงมหาดไทยคงจะต้องปรับกรอบให้ความคล่องตัวในการใช้งบประมาณ เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจระดับล่างกำลังแย่ เพราะฉะนั้นนโยบายปีการท่องเที่ยวนั้นจะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพราะ เป็นการกระตุ้นให้คนเข้าไปในชุมชน การจับจ่ายใช้สอยในชุมชนจะมีมากขึ้น องค์กรท้องถิ่นก็จะต้องหางบประมาณไปใช้ในการเตรียมความพร้อมภาคประชาชน การพัฒนาธุรกิจชุมชน ส่วนเรื่องการปรับฐานะ นั้นจะต้องคุยกันในรายละเอียดที่ลึกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพราะนโยบายของรัฐบาลคือจะให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่ากติกาต่างๆก็คงจะเข้มงวดมากขึ้น จึงต้องดูว่าต้องมีการปรับทิศทางอย่างไรบ้าง “ในส่วนข้อเสนอที่จะส่งไปถึงรัฐบาลนั้นวันนี้คงเป็นเรื่องการขอใช้งบกลางจากรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชน ในปีงบประมาณ 2561 อีกประการคืออยากทำข้อเสนอให้รัฐบาลเห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญ แต่การกำหนดห้วงเวลาที่เลือกตั้งก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งวันนี้รัฐบาลมีนโยบายว่าจะกระตุ้นชุมชน หากการเลือกตั้งเร็วขึ้นก็อาจจะกระทบฐานความคิดและนโยบายเหล่านี้ได้ จึงอยากช่วยหารือกันว่าช่วงเวลาไหนที่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และมีเหตุผลอะไรบ้าง โดยสมาคมฯจะไม่อยากให้คิดหรือมองว่าเป็นการอยากอยู่ในตำแหน่งนานๆ แต่ให้คิดว่าระหว่างที่อยู่ในตำแน่งนั้นจะเกิดประโยชน์อะไรกับชุมชนบ้าง” อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าว ขนกวรรณ พรหมทอง : รายงาน