รัชกาลที่ 10 ทรงแนะแก้ปัญหาด้วยปัญญา / หมออุดม รับงานดูแล สกอ.เป็นหลักพร้อมส่งเสริม"ราชภัฏ"ตามปรัชญาช่วยพัฒนาท้องถิ่นลดเหลื่อมล้ำ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเข้าหารือกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. และผู้บริหารของ ศธ.ว่า นพ.ธีระเกียรติ ได้มอบหมายให้ดูแลงานสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นหลัก นพ.ธีระเกียรติ จะดู สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงษ์ รมช.ศึกษาธ การ จะดูในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหลัก แต่ยังไม่มีการคุยในรายละเอียด ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมาหารือในเรื่องเชิงนโยบายว่าจะทำอะไรต่าง ๆ ซึ่งก็มีแนวทางบ้างแล้ว นอกจากนี้ นพ.ธีระเกียรติ ยังพูดคุยถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน ศธ. ซึ่งคิดว่าปัญหาใหญ่ ๆ ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนคือ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) โดยขณะนี้มีข้อตกลงและข้อสรุปเบื้องต้นที่จะดำเนินการ ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ จะเป็นคนชี้แจงด้วยตนเอง "หลังจากที่ได้เฝ้าถวายสัตย์ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า คณะรัฐมนตรี เป็นคนที่รับผิดชอบดูแลบ้านเมือง ดังนั้น การทำงานตรงนี้ ถือเป็นการสนองพระราโชบาย เราต้องเร่งทำเพราะเวลามีจำกัด โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส เกี่ยวกับแนวทางเรื่องการศึกษาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ซึ่งทรงมีพระราชกระแสแนะนำผ่านองคมนตรี ในการส่งเสริมพัฒนา มรภ.ให้เป็นไปตามปรัชญา มหาวิทยาลัยที่ช่วยพัฒนาท้องถิ่น ลดความเหลื่อล้ำเป็นเป้าหมายสำคัญ" นพ.อุดม กล่าวและว่า ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่าน มรภ.อาจจะได้รับการส่งเสริมไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น จากนี้จะมีการพัฒนาส่งเสริมตรงนี้มากขึ้น โดย มรภ.ต้องปรับตัวเอง ยกระดับขึ้น แต่เน้นเป้าหมายพัฒนาท้องถิ่น ลดความเหลื่อล้ำ ขณะเดียวกัน ศธ. จะช่วยส่งเสริมช่วยเหลือมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทรงย้ำว่า การศึกษาหลายเรื่องต้องมีการวิเคราะห์ มีข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้เราเองไม่ค่อยได้ทำกัน รวมถึงพระองค์ยังทรงเน้นย้ำให้แก้ปัญหาด้วยปัญญา ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า พระองค์ทรงใส่พระทัยเรื่องนี้มาก ดังนั้น ศธ.จะสนองพระราโชบายทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา