องคมนตรี เยี่ยมเกษตรกรต้นแบบฯ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดียกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 เวลา 9.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้เกษตรกรต้นแบบตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรของนายวงศ์สถิตย์ โมราราษฎร์ เกษตรกรต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงฯ จังหวัดสกลนคร เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายสรุปกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ  นายวงศ์สถิตย์ โมราราษฎร์ เกษตรกรต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงฯ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เดิมประกอบอาชีพรับราชการครู จากนั้นได้ลาออกมาประกอบธุรกิจ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนได้หันเหมาทำการเกษตรโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ชีวิตกลับพลิกฟื้นขึ้นมามีรายได้ที่มั่นคงและเป็นแบบอย่างให้กับเพื่อนเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยจัดสรรพื้นที่จำนวน 43 ไร่ เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 9 กิจกรรม ได้แก่ ทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกชะอม เลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงเป็ดไข่ เลี้ยงปลาดุก-ปลาสร้อย ปลูกส้มโอ และปลูกไม้ผลรวม ผลผลิตที่ได้จึงปลอดภัยจากสารเคมีจึงเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้มีรายได้ดีมาก รายได้ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนใหญ่มาจากการจำหน่ายน้ำเชื้อสุกร ปัจจุบันสวนแห่งนี้ ได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรแบบผสมผสานครบวงจรตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฏีใหม่ ให้กับเพื่อนเกษตรกรและผู้ที่สนใจได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกษตรกรโดยตรงเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพของตนเองต่อไป จากนั้นเวลา 13.00 น. องคมนตรี และคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดียกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนาคำ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อรับฟังการบรรยายสรุป เยี่ยมชมอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งพบปะราษฎรผู้รับประโยชน์จากโครงการฯ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดียกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเดียกตามพระราชดำริ โดยในครั้งนั้นราษฎรหมู่บ้านนาคำและหมู่บ้านใกล้เคียง ที่จะได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยเดียก ได้ให้ความร่วมมือในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเดียกฯเป็นอย่างดี รวมทั้งได้ร่วมทูลเกล้าฯ ถวายเงิน 25,000 บาท สำหรับจ่ายค่าชดเชยที่ดินของราษฎรที่ถูกน้ำท่วม และทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อสมทบในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ อีกจำนวนกว่า 10,000 บาท และเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร จึงเห็นควรให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ให้สามารถเก็บกักได้โดยเร่งด่วน โดยอ่างเก็บน้ำและเขื่อนเก็บกักน้ำ จะมีความกว้างฐานเขื่อน 120 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 6 เมตร ยาว 530 เมตร สูง 20 เมตร ปริมาตรน้ำที่ระดับเก็บกัก 4,000,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 275 ไร่ ในการบริหารจัดการน้ำ มีการแยกการบริหารจัดการออกเป็นส่วนย่อยๆ ปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำพื้นฐาน จำนวน 3 กลุ่ม จำนวน 179 คน ครอบคลุมพื้นที่ 1,747 ไร่ สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรท้ายอ่างเก็บน้ำ 4,000 ไร่ กิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ บางส่วน สนับสนุนการเพาะปลูกของหมู่บ้านนาคำ บ้านนกเค้า บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านหนองแฝกพัฒนา และหมู่บ้านใกล้เคียง ยังผลให้เกษตรกรมีน้ำเพาะปลูกได้ตลอดปี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้