คณะกรรมการอิสระฯ วาง 4 เป้าหมายปฏิรูปการศึกษา ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้นำข้อสรุปที่ได้จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะอนุกรรการ ทั้ง 5 ชุด ได้ไปรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 2-3 ธ.ค.60 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาวางแผนการเดินหน้าปฏิรูปในภาพรวม ซึ่งจะต้องนำไปรวมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปด้านอื่นๆ ซึ่งมีระยะเวลาในการทำงาน 5 ปี แต่เนื่องจากคณะกรรมการอิสระฯ มีระยะเวลาในการทำงาน 2 ปี ปัจจุบันทำงานมาแล้วราว 6 เดือน ดังนั้น การทำงานจะต้องเห็นผลทั้งในช่วงเวลาที่เหลืออีก 1 ปีครึ่งและในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายของขับเคลื่อนไว้ 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1.ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องโอกาสการเข้าถึง,โอกาสในการได้รับทางเลือกในการศึกษาและการเรียนรู้พัฒนาที่เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน และโอกาสในการได้รับประโยชน์ในการเรียนรู้ได้ตามความถนัด โดยที่คืบหน้าในขณะนี้คือร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคาดว่าเร็วๆนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และน่าจะประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2561 ตามกรอบเวลาที่กำหนด 2.คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ทั้งการยกระดับการศึกษาให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่พึงประสงค์ ตามความต้องการของตนเองและของประเทศ โดยเฉพาะจะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่เน้นส่งเสริมเรื่องคุณธรรม จริยธรรม มีความรักสามัคคีปรองดองและไม่ทุตริต โดยมุ่งเน้นปรับค่านิยมให้เกิดทั้งต่อตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ 3.มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะเน้นกลุ่มอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา และ 4.การปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรเพิ่มความคล่องตัว ในการรองรับความหลากหลายในการจัดการศึกษา การมีธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และสร้างความรับผิดชอบ "นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในการนำสื่อดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยเรื่องการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วย"ศ.นพ.จรัส กล่าว