​​​​​​​​​​​​ชาวบ้านตำบลยะรม อ.เบตง จ.ยะลา พลิกวิกฤตหลังน้ำท่วมหาหินสี สร้างรายได้งาม 600-1,000 บาทต่อวัน วันที่ 8 ธ.ค. จากสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในช่วงนี้ ส่งผลให้ในพื้นที่ ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ชาวบ้านตลอดแนวลำคลองเบตง ถูกน้ำทะลักเข้าท่วมเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะชาวบ้าน ตำบลยะรม หมู่ 3,4,5 และ 8 อ.เบตง จ.ยะลา ต่างพากันไป เดินตามทางน้ำคลองเบตงหลังจากที่มีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่กันมาหลายวันและมีการขุดลอกคลองเพื่อเปิดทางเดินน้ำ ชาวบ้านพลิกวิกฤติเป็นโอกาส หาหินสี สร้างรายได้ช่วงฝนตก600-1,000 บาทต่อวัน นายอาลี อิตำ อายุ 52 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 อยู่บ้านเลขที่ 32/8 ม.5 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่ออกหาหินสวย เปิดเผยว่า ถึงแม้สถานการณ์ฝนยังคงตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ แต่ชาวบ้านก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในช่วงฝนตกต่างพาลูกหลานออกหาขุดหินสี ซึ่งช่วงฝนตกหนักทางชลประทานมาขุดลอกคลองเบตงเพื่อเปิดทางเดินน้ำ ทำให้มีการขุดดินใต้คลองเบตงขึ้นมาพร้อมกับหินสีต่างๆ โดยในแต่ละวันชาวบ้าน ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพกรีดยางพาราในช่วงฝนตกก็จะออกหาหินสีกันจำนวนมาก และเมื่อนำหินไปเจียรขึ้นรูปทรงต่างๆสามารถสร้างรายได้วันละ 600-1,000 บาท นายอาลี อิตำ เล่าว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังว่า ในพื้นที่ สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแหล่งแร่ที่สำคัญ โดยมีการทำเหมืองแร่ โดยเริ่มจากเหมืองหาบ มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้หันไปทำเหมืองแร่ชนิดอื่น ๆ เช่น เหมืองสูบ เหมืองแล่นและเหมืองฉีด โดยมีที่ตั้งกระจายตัวอยู่ในเขตอำเภอต่างๆของ จ.ยะลา เช่น อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง ตนจึงเชื่อว่าใต้ดินคลองเบตงน่าจะมีหินชนิดต่างๆรวมทั้งแร่ด้วย ประกอบกับมีชาวบ้านชายมลายูมุสลิม เป็นชาว อ.ยะหา จ.ยะลา บอกว่า หินใต้ดินคลองเบตง มีความสวยงาม สามารถนำมาทำเป็นหัวแหวนได้ จึงได้ลองขุดหินขึ้นมา หลังจากนั้น ก็นำหินดังกล่าวมาร่อนกับน้ำเพื่อทำการคัดเลือกหินและสี ซึ่งการขุดหาหินจะพบหินทั่วไปหากไม่นำไปร่อนกับน้ำก็จะดูไม่ออกว่าภายในตัวหินจะมีสีสันต่างกันไป ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านและวัยรุ่นในพื้นที่ต่างออกหาหินตามริมคลองเบตงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยไม่ต้องไปทำงานในประเทศมาเลเซียตามร้านต้มยำกุ้ง โดยปกติในช่วงฝนตกชาวบ้านจะไม่ได้ทำมาหากินอะไร เพราะชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมีอาชีพ กรีดยางพารา สร้างความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก แต่หลังจากที่ชาวบ้านได้นำหินสีมาเจียรขึ้นรูปทรง ก็ปรากฏว่า เหลี่ยมของหินสีไม่ต่างจากอัญมณีพลอยเลย มีเพียงแค่สีของหิน เป็นสีดำและสีอื่นๆส่วนพลอยจะใสเท่านั้นเองอย่างอื่นเหมือนกันหมด และหลังจากเจียรเป็นที่เรียบร้อยขึ้นเป็นรูปพรรณต่างๆ และได้นำออกมาว่างจำหน่ายเป็นของประดับให้กับนักท่องเที่ยว ชายมลายูมุสลิมไทย และ มาเลเซีย ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในอำเภอเบตง และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชายมลายูมุสลิมมาก ซึ่งภายหลังมีพ่อค้าแหวนมาหาซื้อหินสี ถึงในหมู่บ้านเพื่อนำไปประกอบเป็นแหวน มีการสลักลวดลาย แนว มลายู ที่สวยงาม แฝง วัฒนธรรม มลายู ในลวดลาย ผสมผสานกับหัวแหวนหินสีต่างๆ ทำให้แหวนหินสีขึ้นรูปเป็นตัวเรือนแหวนมีราคาตั้งแต่ 2,500 - 30,000 บาท และเมื่ออยู่บนเรียวนิ้วของชายมลายูมุสลิม จะทอประกายแวววาว ตัดกับลวดลายแปลกตาบนตัวเรือนสีเงินบนนิ้วนางข้างซ้าย มันกลมกลืนเข้ากันอย่างเหมาะเจาะกับเสื้อเชิ้ตลายบาติกทรงสากลนิยมและหมวกซอเก๊าะหรือแม้กระทั่งชุดโต๊บยาวของผู้นำศาสนาโดยชายมลายูมุสลิม ชื่นชอบมาก ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพวันละ 600-1,000 บาท เลยทีเดียว นายอาลี อิตำ ได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ตอนนี้เด็กๆในหมู่บ้าน ได้มีอาชีพเสริม รวมทั้ง คนที่มีครอบครัว ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำมาจุนเจือ ครอบครัว ได้ในช่วงฝนตก อีกทั้งราคายางพารา ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับขึ้นถึง 100 บาทได้ จึงอยากฝากหน่วยงานรัฐเข้ามาส่งเสริมอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ให้กับคนในหมู่บ้าน เพื่อที่จะมีการรวมกลุ่มกันในการผลิตและจำหน่าย หินสี ที่มีตลาดรองรับ โดยเฉพาะ ชาวมลายู มาเลเซีย ที่นิยม ซื้อไปเป็นเครื่องประดับ รวมทั้งชายไทยมลายู ก็นิยมเช่นกัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ในยุคนี้