ชุดพลิกล็อค...เป็นชุดจำกัดการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา โดยการจำกัดการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยง และป้องกันอันตรายที่เกิดจากผู้ป่วยยกมือขึ้นมาดึงสายอุปกรณ์ในการรักษา นอกจากนี้ชุดพลิกล็อคยังช่วยพลิกตัวผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะนอนติดเตียงได้ง่ายอีกด้วย นี่คือผลงานของทีมนักประดิษฐ์จากโรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เขต 38 นำโดย สรวิชญ์ ถิระวัฒน์ทยาวัต, วรรณกร อินทร์ปิ่น, อรวรรณ บุตรจินดา, กุละพัฒน์ วันดี และมีครูอัมพร ธีรวรกุล เป็นที่ปรึกษา ซึ่งไปคว้ารางวัล Bronze Medal Award จากการแข่งขันในเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ ระดับนานาชาติ Taipei International Invention Show & Technomart (INST2017) ณ ประเทศไต้หวัน โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Move World Together ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ผลงานชุดพลิกล็อค สามารถคว้ารางวัล Best presentation Awards และรางวัล silver award จากค่ายโครงการ Move World Together และรางวัล Special award จากนายกสมาคมสิ่งประดิษฐ์ประเทศเกาหลี ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2560 ณ ไบเทคบางนา "สรวิชญ์ ถิระวัฒน์ทยาวัต" ตัวแทนทีมนักประดิษฐ์ กล่าวถึงความพิเศษของชุดพลิกล็อค คือการเลือกใช้วัสดุผ้าท้องถิ่น เส้นใยธรรมชาติ มีคุณสมบัติเฉพาะ ทนทาน เนื้อผ้าสวมใส่สบายไม่รู้อึดอัด ระบายอากาศได้ดี และเทคนิคพิเศษของการตัดเย็บที่เพิ่มความแข็งแรงของอุปกรณ์ในขณะการใช้งาน ชุดยังถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งาน/จำกัดการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย ได้ตามระดับอาการของผู้ป่วย และสามารถปรับขนาดชุดได้ตามขนาดสรีระของคนไข้ได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ผู้ดูแลสามารถดูแลพลิกตัวผู้ป่วยได้สะดวกและช่วยผ่อนแรงมากขึ้น ทำให้สามารถลดจำนวนผู้ดูแล/เจ้าหน้าที่ และลดภาระในการดูแลผู้ป่วย ด้านครูอัมพร ธีรวรกุล ที่ปรึกษา กล่าวว่า แนวความคิดในการต่อยอด"ชุดพลิกล็อค"ได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาเกือบ3ปี ที่ผ่านมาเราแก้ไขตามจุดบกพร่องที่พบและเพิ่มเติมในส่วนต่างๆที่คิดว่าจะทำให้ใช้งานได้ง่ายรวดเร็ว สวมใส่สะดวกสบาย ไม่รบกวนสายต่างๆที่ช่วยในการรักษา ปรับขนาดได้ตามขนาดร่างกายผู้ป่วยจนได้แบบที่เห็นในปัจจุบัน แม้จะไปแข่งขันและเป็นที่ยอมรับจากคณะกรรมการในเวทีนานาชาติมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ชุดพลิกล็อค ยังมีจุดที่ต้องพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะต้องนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยจริง แล้วหาจุดบกพร่องจากการที่พยาบาลได้ทดลองใช้จริงแล้วนำไปปรับแก้ต่อไป