หากเปรียบเป็นรถที่กำลังวิ่งบนท้องถนน ก็ต้องบอกว่า ทำท่าจะมาดีๆ ก็มีอันต้องลื่นไถลสไลด์ลงข้างทางกันไปเสียนี่! สำหรับ สถานการณ์ทางการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา กับบรรดาชาติอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลาง ณ ชั่วโมงนี้ หลังจากที่ก่อนหน้าชื่นมื่นหวานแหวว เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกลาง จนสร้างความเป็นปลื้มให้ประชาชาวถิ่นนั้นกันถ้วนหน้า เพราะว่าถือเป็น “ต่างประเทศสถานที่แรก” ที่นายทรัมป์ เลือกที่จะเดินทางเยือนเป็นปฐม เมื่อช่วงกลางปีนี้ ภายหลังจากเขาก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว ในฐานะประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ความเป็นปลื้ม ก็ถึงขนาดทางการซาอุดีอาระเบีย พี่เบิ้มใหญ่จากค่ายโลกอาหรับ จรดปากกาลงนามใน “ออร์เดอร์” คำสั่งซื้ออาวุธสงครามจากสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แถมยังจะขยายออกไปอีกลิบลิ่วถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรียกว่า เป็นการออร์เดอร์ สั่งซื้ออาวุธลอตใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กันเลยก็ว่าได้ ทว่า ความสัมพันธ์อันแสนหวานของลุงแซมแดนสหรัฐฯ กับเหล่าชาติอาหรับ เห็นท่าว่าจะสะดุดพลิกคะม่ำคว่ำคะเมนกันให้เสียแล้ว เมื่อปรากฏว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำอิสราเอลในกรุงเทลอาวีฟ ไปอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม นครที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างศาสนาของสองชนเผ่าคือ ยิวกับอาหรับ ศาสนายูดาห์ และศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม มาแต่ครั้งโบร่ำโบราณ จนกลายเป็นศึกละเลงเลือดมาตราบเท่าทุกวันนี้ ก็สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรง จนถึงเกรี้ยวกราดให้แก่บรรดาชาติอาหรับเป็นที่ยิ่ง ทั้งนี้ เพราะการก่อตั้งสถานเอกอัครราชทูตข้างต้น ก็ไม่ผิดอะไรกับการรับรองให้กรุงเยรูซาเล็ม เป็นเมืองหลวงทั้งพฤตินัย และนิตินัย ให้แก่อิสราเอล ชาติไม้เบื่อไม้เมาของกลุ่มประเทศอาหรับไปโดยปริยาย และภายในทันที โดยที่มาทางการสหรัฐฯ ก็ใช้นโยบายการ “ต่ออายุ” อยู่ในเทลอาวีฟต่อไป อีกเป็นเวลา 6 เดือนๆ หรือครึ่งปีๆ กันอยู่เป็นระยะ นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา หลังจากที่กฎหมายว่าด้วยการก่อตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอล มีผลบังคับใช้ในปีดังกล่าว กระทั่งครั้งล่าสุด คำสั่งเลื่อนการก่อตั้งสถานทูตฯ ตามตัวบทกฎหมายข้างต้น ได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ก่อนหน้าทางประธานาธิบดีทรัมป์ ก็มิได้ลงนามคำสั่งเลื่อนออกไปเสียอย่างนั้นแหละ แถมยังแสดงท่าทีที่จะ “เดินหน้า” ย้ายสถานทูตฯ จากเทลอาวีฟมายังเยรูซาเล็ม ตามที่กฎหมายมีผลบังคับใช้อีกต่างหาก มิหนำซ้ำ ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้ประกาศให้ “เยรูซาเล็ม” เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลกันอีกด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามสัญญาณที่ทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงภายในทำเนียบขาวเปิดเผยกันก่อนหน้า ก็ต้องถือว่า เป็นปฏิบัติการเดินหน้าชน พร้อมปะทะทางความสัมพันธ์กับเหล่าชาติอาหรับ แบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมกันเลยทีเดียว สวนทางกับนานาประเทศที่ยังต้องระบุว่า กรุงเทลอาวีฟ คือนครหลวงของอิสราเอล ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเราเอง ตามข้อมูลของกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็ยังระบุว่า กรุงเทลอาวีฟ เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลด้วยเหมือนกัน ท่ามกลางเสียงเพรียกเตือนแกมตำหนิจากหลายฝ่ายของเหล่าบรรดาผู้นำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งอังกฤษ ชาติพันธมิตรคู่หู โดยที่หนักหนาสาหัสกว่าใครก็เห็นจะเป็น กลุ่มชาติอาหรับ ได้ส่งเสียงเตือนดังกว่าใครเขาเพื่อน ถึงขนาดที่ประชุม “สันนิบาตอาหรับ” ซึ่งมีขึ้น ณ กรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ ก็ได้ออกแถลงการณ์เตือนด้วยถ้อยคำที่รุนแรงกันทีเดียวเชียวว่า การประกาศเช่นนั้นของประธานาธิบดีทรัมป์ นับเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม เพราะจะส่งผลให้เซาะบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงกลุ่มหัวรุนแรงที่มีแนวคิดสุดโต่ง ก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างก่อความรุนแรงหนักข้อยิ่งขึ้นไปอีก พร้อมกับระบุด้วยว่า หากเป็นเช่นการประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์จริง รัฐบาลอิสราเอลก็จะเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว ที่มาที่ไปในความขัดแย้งเรื่องเยรูซาเล็มนั้น ต้องย้อนกลับเมื่อ 100 ปีที่แล้ว โดยในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 (ค.ศ1917) รัฐบาลอังกฤษ โดยนายอาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประกาศรับรองก่อตั้งรัฐยิวในปาเลสไตน์ พร้อมเอกสารกำกับอีกต่างหากด้วย เรียกว่า “ปฏิญญาบัลโฟร์” ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างยิว หรืออิสราเอล กับปาเลสไตน์ ตลอดจนโลกอาหรับ นับแต่นั้นมาตราบเท่าถึงทุกวันนี้ ส่วนเหตุปัจจัยที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องถลำคว่ำคะมำทางการทูต คือ สร้างความขัดแย้งกับเหล่าชาติอาหรับหนนี้ ก็เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากบรรดากองเชียร์ในพรรครีพับลิกัน ที่จำนวนไม่น้อย เป็นยิว หรือถือหางข้างยิว ไม่นับที่บุตรเขยหัวแก้วหัวแหวนของเขาก็มีเชื้อสายยิวเหมือนกัน บรรดานักวิเคระห์แสดงทรรศนะว่า หลังจากนี้ต่อไปเห็นทีหนทางการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางจากผลพวงการขัดแย้งระหว่างยิวกับปาเลสไตน์ ส่อเค้าว่าจะเป็นไปได้ยากขึ้น พร้อมๆ กับกระแสการตอบโต้จากพวกกลุ่มหัวสุดโต่งก็ทวีความรุนแรงหนักข้อขึ้นยิ่งกัน